คนมักจะพูดกันว่า ซับไพร์มเป็นต้นเหตุของปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐ แต่ความจริงซับไพร์มเป็นเพียงสายชนวน ขณะที่ CDS เป็นระเบิดตัวจริงที่นำความวิบัติมาให้ ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น
Credit Default Swaps ( CDS ) หรือสัญญรับประกันเงินกู้ ถูกออกแบบมาใช้ครั้งแรกราวปีคศ. 1988 เพื่อใช้เป็นสัญญารับประกันการผิดนัดชำระหนี้ โดยคนซื้อตกลงจ่ายเงินจำนวนหนึ่งที่เรียกว่าค่าธรรมเนียม ให้อีกบุคคลหนึ่งที่เป็นผู้ขาย ซึ่งมักจะเป็นสถาบันการเงิน เพื่อให้ออกสัญญาฉบับหนึ่งที่ให้การรับประกันมูลหนี้ที่ผู้ซื้อได้ปล่อยกู้ หรือซื้อหุ้นกู้จากสถาบันการเงินอื่นๆ หากสถาบันการเงินอื่นผิดนัดชำระหนี้ ผู้ขายCDSรับที่จะชดใช้มูลหนี้ก้อนนี้ให้แทน
คนขายได้ค่าธรรมเนียม คนซื้อได้รับการคุ้มครอง ขณะที่ความเสี่ยง (เรื่องหนี้สูญ ) ถูกโอนจากคนซื้อไปที่คนขาย CDS
โดยทั่วไป CDSจะเป็นสัญญาระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันเอง ที่ทำขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายจากการนำเงินของตนไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ของบริษัทอื่น ค่าธรรมเนียมมักจะอยู่ระหว่าง 5-8%ของวงเงินที่จะให้รับประกัน (ต่อระยะเวลา 5 ปี) ขึ้นกับความมั่นคงของบริษัทลูกหนี้ หากหุ้นกู้มีปัญหา ธนาคารผู้ขาย CDS ต้องชดใช้เงินให้เท่ากับ 100%ของราคาพาร์ของหุ้นกู้นั้น
ฟังดูน่าจะเป็นการดี ที่สถาบันการเงินมีความรอบคอบที่จะปกป้องตัวเอง แต่ปัญหาคือ มันไม่มีกฎระเบียบในเรื่องนี้ ไม่มีองค์กรกลางที่จะมาเป็นศูนย์ควบคุมดูแลหรือตรวจสอบธุรกรรมเหล่านี้
การซื้อขายก็มักจะทำกันทางโทรศัพท์หรือแฟกซ์ เจ้าหน้าที่เทรดเดอร์แต่ละคนก็ใช้วิธีจดบันทึกด้วยปากกา โดยไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามารับรู้ หรือเป็นสักขีพยาน
ไม่มีการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ ไม่มีการแถลงข้อมูลรายละเอียดของบริษัทลูกหนี้ ไม่มีรายงานประจำปี เจ้าหน้าที่ตัดสินใจจากประสบการณ์ของตนเอง
ที่แย่ไปกว่านั้นคือ นักลงทุนสามารถซื้อ CDS ได้โดยที่ไม่ต้องเป็นเจ้าของหุ้นกู้เลย ยกตัวอย่าง เช่น คุณสามารถไปเดิมพันในการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพร์มได้ โดยคุณไม่ได้ปล่อยกู้สินเชื่อซับไพร์มนี้เลยแม้แต่เหรียญเดียว
คุณเพียงแต่เดินไปจ่ายเงินเดิมพันราว 7% หากสินเชื่อส่วนนี้ผิดนัดชำระหนี้ คุณจะทำเงินได้ถึง 93%ทีเดียว ( เมื่อหักค่าธรรมเนียมออกแล้ว ) ซึ่งไม่ได้มีอะไรแตกต่างกับคนที่เป็นเจ้าของหุ้นกู้ แล้วไปซื้อ CDS ในราคาเดียวกัน
คนหนึ่งซื้อเพื่อเป็น หลักประกัน ขณะที่อีกคนซื้อเพื่อ แทงพนัน
ส่วนสถาบันการเงินนั้นเล่า ก็ยกตัวเองมาเป็น บริษัทประกันที่รับประกันการล้มละลายของบริษัทอื่นๆโดยที่ไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแล ซึ่งถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง บริษัทเหล่านี้ได้เสนอตัวเป็น เจ้ามือรับแทงพนัน โดยมีความอยู่รอดของบุคคลที่สามเป็นเดิมพัน
มันไม่เป็นที่แน่ชัดว่า CDS ที่ขายออกไปในท้องตลาดแบบไหนมากกว่ากัน แต่คาดกันว่า แบบ แทงพนันมากกว่าแบบ หลักประกัน
และที่น่าตกใจคือ มูลค่ารวมของ CDS ที่ยังไม่ครบกำหนดสัญญา น่าจะมีมูลค่าถึง 55 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของทุกประเทศในโลกนี้รวมกันทั้งหมดเสียอีก

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ เคยมีผู้ประมาณการไว้ว่า สินเชื่อบ้านในสหรัฐทั้งหมดรวมกันน่าจะมีมูลค่าประมาณ 8 ล้านล้านเหรียญ ขณะที่หนี้สินของบริษัทต่างๆรวมกันน่าจะอยู่ที่ 6 ล้านล้านเหรียญ รวมหนี้สินของภาคครัวเรือนและบริษัทเอกชนน่าจะอยู่ที่ 14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
แต่ CDS กลับมีมูลค่ารับประกันรวมถึง 55 ล้านล้านเหรียญ สูงกว่ามูลหนี้ที่มีอยู่จริงถึง 4 เท่า นี่เป็นหลักฐานยืนยันว่า การซื้อ CDS เพื่อการเก็งกำไรหรือเพื่อแทงพนันนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาล
ดังนั้น แทนที่ CDS จะมีไว้รับประกันความเสี่ยง กลับกลายเป็นว่า มันเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบการเงิน เพราะสถาบันการเงินใหญ่ๆล้วนแต่ขาย CDS ด้วยกันทั้งนั้น เนื่องจากเห็นว่า เป็นช่องทางรับค่าธรรมเนียมได้โดยง่าย และคิดว่าได้มาฟรีๆ
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เมื่อสถาบันการเงินหนึ่งล้ม สถาบันการเงินแห่งที่สอง ที่สาม จะล้มตามกันมาเป็นทอดๆ
ถึงตอนนี้ ท่านทราบหรือยังว่า ทำไมจึงกล่าวว่า CDSคือดินระเบิดที่แฝงอยู่ในตลาดวอลล์สตรีท ที่มีแรงอัด 3-4 เท่า และสามารถทำปฏิกิริยาลูกโซ่ได้
นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องตระบัดสัตย์ ยุติหลักการค้าเสรีไว้เป็นการชั่วคราว ประกาศตัวเข้าอุ้มสถาบันการเงินเอกชน ทั้งๆที่ก่อนหน้า ประกาศยืนยันจะไม่เข้าแทรกแซงกิจการของเอกชน จะไม่มีการนำเงินภาษีของประชาชนไปช่วยคนผิด ที่ทำธุรกิจแบบไม่รับผิดชอบ มุ่งเน้นแต่การเก็งกำไร
แต่ท่านคงมาได้สติว่า ถ้าไม่รีบเข้าไปช่วยตอนนี้ อาจจะไม่มีเหลือให้ช่วยในอนาคต ครับ
แหล่งข้อมูล CNNMoney.com