ช่วงนี้มีนักวิชาการหลายท่านออกมาเตือนเรื่อง วิกฤตการเงินระลอกสองในสหรัฐอเมริกา ประกอบกับมีสัญญานชี้นำทางเศรษฐกิจหลายตัวที่บ่งชี้ไปในทิศทางนั้น ไม่ว่าราคาทองคำ ,อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ และดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารของสหรัฐ
หรือว่า เรื่องนี้จะเป็นความจริง
มันเป็นเรื่องที่ขัดความรู้สึกอยู่เหมือนกันที่ใครๆพากันพูดว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930 เมื่อ 70 ปีที่แล้ว แต่แล้วนักเศรษฐศาสตร์เองกลับมาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเริ่มฟื้นในปลายปีนี้ หรืออย่างช้ากลางปีหน้า
พวกเราคงจำกันได้ว่า ประเทศไทยเราประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปีพ.ศ.2540 กว่าจะเริ่มฟื้นตัวก็ปลายปี 2545 เราใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะเริ่มฟื้นตัว ขณะที่วิกฤตที่เกิดขึ้นในสหรัฐมีขนาดใหญ่กว่า กระทบวงกว้างกว่า จะฟื้นง่ายๆภายใน 1-2 ปีเชียวหรือ
ประเทศสหรัฐอเมริกา ควรใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีในการฟื้นตัว และผมเชื่อว่าจุดเลวร้ายสุดของวิกฤตยังมาไม่ถึง
ปัญหาที่เริ่มจากสถาบันการเงินล้มเป็นลูกโซ่ แล้วลามไปภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง อย่างบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ สายการบินและร้านค้าปลีก บริษัทต่างๆเริ่มลดเงินเดือนพนักงาน ปลดคนงานออก ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่ำสุดในรอบหลายสิบปี
ผู้คนชะลอการใช้จ่าย ราคาน้ำมันดิบลดจาก 140 เหรียญเหลือเพียง 40 เหรียญต่อบาร์เรล อัตราการว่างงานเพิ่มจากปกติที่ 2% มาเป็น 7.6% ในเดือนมกราคม แต่ยังนับว่าห่างไกลมากเมื่อเทียบกับการว่างงานเมื่อตอนเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่ 20%
ถ้าเราเชื่อว่าวิกฤตครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เราก็ต้องเชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่จบลงง่ายๆและจุดต่ำสุดยังมาไม่ถึง
นางเจนเนต เยลเลน ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก กล่าวเมื่อวันศุกร์สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สหรัฐจะไม่ประสบปัญหาดิ่งลึกเท่าช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ แต่หลายสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงกลางของการดำดิ่ง ดังนั้นการตอบสนองที่ที่เร่งด่วนและรุนแรงจึงจำเป็น เพื่อหยุดยั้งการถดถอยที่จะลึกไปเรื่อยๆ
นางเจนเนต เยลเลน พูดในวันเดียวกับที่รัฐบาลสหรัฐออกมาประกาศว่า ตอนนี้ การว่างงานกำลังพุ่งสูงสุดในรอบ 34 ปี นางยังทิ้งท้ายว่า “โชคร้ายที่ตอนนี้ ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด”
นั่นคือเหตุผลว่าทำไม ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทองคำและอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรสหรัฐเริ่มกลับสูงขึ้นอีกครั้ง
ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นเมื่อสัก 2-3 ปีก่อน เราเห็นเหตุการณ์ที่นักลงทุนทยอยขายเงินดอลลาร์ไปซื้อทองคำเพื่อเป็นแหล่งพักเงิน เมื่อวิกฤตปะทุ นักลงทุนเหล่านี้ได้เทขายทองคำในราคาสูงแล้วกลับมาซื้อเงินดอลลาร์ราคาถูกกลับคืน ทำให้ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นไปถึง 1,000 เหรียญต่อออนซ์ลดลงมาเหลือ 720 เหรียญต่อออนซ์
แต่มาถึงวันนี้ พวกเขาเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวได้ในเร็ววัน มันอาจจะทรุดฮวบไปอีกครั้ง ค่าเงินดอลลาร์จะดิ่งตามลงไป พวกเขาจึงทยอยขายเงินดอลลาร์แล้วกลับไปซื้อทองคำเพื่อพักเงินไว้อีก ราคาทองคำจึงทยอยขึ้น มาอยู่แถวๆ 900 เหรียญต่อออนซ์อีกครั้ง
อัตราดอกเบี้ยก็เช่นกัน ช่วงที่เกิดวิกฤตใหม่ๆอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐต่างพุ่งพรวด นั กลงทุนถอนเงินลงทุนเมื่อความปลอดภัย ทำให้สถาบันการเงินทุกแห่งขาดสภาพคล่องและหยุดปล่อยสินเชื่อ เพื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นได้ เฟดอัดฉีดเงินเข้าระบบอย่างเต็มที่ ทำให้สภาพคล่องเริ่มผ่อนคลาย อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีที่ใช้เป็นอัตราอ้างอิงของดอกเบี้ยระยะยาว ลดจากก่อนวิกฤตที่ 4.2% ลงมาแตะระดับ 2.04%เมื่อกลางเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา
แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐเริ่มขยับขึ้นมาใกล้ 3%อีกครั้ง แสดงว่าปัญหาในสถาบันการเงินสหรัฐยังไม่จบ
ตราบใดที่เรายังไม่สามารถประเมินมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ที่มีปัญหาในสถาบันการเงินได้ มันคงยากที่จะดึงดูดนักลงทุนรายใหม่เข้ามา และการปล่อยสินเชื่อใหม่ก็ยากจะเกิดขึ้น
จริงอยู่ว่าวิกฤตครั้งนี้คงไม่เลวร้ายเท่าสมัยเมื่อ 70 ปีที่แล้ว เพราะเราสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จากอดีตได้ อีกทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีในปัจจุบันก็มีมากกว่าอดีต ทำให้แผนต่างๆที่ปล่อยออกมาบรรลุผลได้เร็วขึ้น
แต่ผมคิดว่า รัฐบาลสหรัฐและคนอเมริกันยังประเมินสถานการณ์ต่ำไป
รัฐบาลสหรัฐใช้เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียง 8.25 แสนล้านเหรียญหรือ 6.00%ของ GDP เปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น จีน และอังกฤษที่ใช้เงินถึง 12.30% , 17.90% และ 20.00%ของ GDP ตามลำดับ
คนอเมริกันก่อนเกิดวิกฤตเชื่อว่า รัฐบาลของตนจะจัดการปัญหาเศรษฐกิจได้ และเมื่อเกิดวิกฤตแล้ว คนอเมริกันก็ยังเชื่อไม่เลิกว่า เศรษฐกิจของตนจะฟื้นใน 1-2 ปี
ทุกแห่งที่เกิดวิกฤตล้วนมาจากการที่คนในสังคมนั้นๆย่ามใจ ทุ่มลงทุนโดยไม่มีการเตรียมแผนรองรับในกรณีผิดพลาด เวลาเกิดปัญหาจึงเจ็บหนัก
แต่เมื่อมาดูความเสียหายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสมัยทศวรรษ 1930 แล้ว ผมเห็นว่ายังห่างไกลกันนัก ผมจึงเชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นยังเผยตัวออกมาไม่หมด
ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ สถาบันการเงินปิดตัวเป็น 1,000 แห่ง ดัชนีหุ้นลดลงเกือบ 90% คนว่างงานกว่า 20% แต่ปัจจุบันสถาบันการเงินปิดไปเพียง 50 แห่ง ดัชนีดาวโจนส์ลดลงเพียง 40% และคนว่างงานแค่ 7.60%
ขณะที่ดัชนีที่ใช้วัดภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ที่คนนิยมใช้กันมากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือGDP ในสมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ GDPสหรัฐลดลงไปกว่า 20% แต่GDPไตรมาสล่าสุดของสหรัฐลดลงเพียง 3.80% มันจึงน่าจะมีแรงส่งไปได้มากกว่านี้
อะไรจะเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจตกต่ำลงไปได้อีก ทั้งที่ตอนนี้เศรษฐกิจสหรัฐก็ดูเหมือนนิ่ง ดีแล้ว
คำตอบคือ ภาคการเงินที่นับเป็นเส้นเลือดใหญ่ แต่ยังมีปัญหาซุกซ่อนอยู่มาก
ปัญหาในสถาบันการเงินจะกลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อนที่แต่ละสถาบันถืออยู่นั้น มันยากที่จะประเมินมูลค่าที่แท้จริงได้ อีกทั้งเจ้าของสถาบันการเงินก็มักจะไม่ยอมเปิดเผยสถานะที่แท้จริงให้ทราบ
เพราะถ้าขืนไปบอกรัฐบาลหมดว่า ข้างในเสียหายอย่างไร มากเท่าไร หากรัฐบาลเห็นว่าเยียวยาได้ยาก เขาอาจบังคับให้ปิดกิจการ และขายทอดตลาดไปก็ได้ แต่ถ้ารู้จักเผยความเสียหายทีละเล็กทีละน้อย แล้วค่อยๆตอดเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไปเรื่อยๆ ยังมีโอกาสซื้อเวลา ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดได้อยู่
รากเง่าของปัญหาคือ สินทรัพย์ของสถาบันการเงินมักจะผูกติดกับราคาอสังหาริมทรัพย์ สองปีที่ผ่านมาราคาบ้านได้ลดลงไปแล้ว 28% หากราคาสินทรัพย์ที่สถาบันการเงินถืออยู่เกิดราคาตกลงไปอีก 7-8% มันจะไปล้างส่วนทุนของสถาบันการเงินจนหมด โดยล่าสุด ราคาบ้านในสหรัฐยังคงลดลงต่อเนื่อง
เราไม่รู้ว่ามันจะเลวร้ายไปถึงขั้นนั้นหรือไม่ แต่แนวโน้มมีอยู่สูงมาก สังเกตได้จากตอนนี้ที่ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารสหรัฐลงมาทำจุดต่ำสุดใหม่ ทั้งที่รัฐบาลเพิ่งให้เงินช่วยเหลือ แบงค์ออฟอเมริกา , ซิตี้กรุ๊ป และเอไอจีไปหมาดๆ แสดงว่าเนื้อในยังมีปัญหาอีกมาก
เวลานี้รัฐบาลสหรัฐให้เงินช่วยเหลือธนาคารต่างๆในรูปของการเพิ่มทุนไปแล้วกว่า 350,000 ล้านเหรียญ แต่นักวิเคราะห์บอกว่าเฉพาะ 8 ธนาคารใหญ่ของสหรัฐต้องการเงินอีก 1.2 ล้านล้านเหรียญเพื่อให้อยู่รอด
ถึงตอนนั้น รัฐบาลสหรัฐจะอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถ้าไม่ช่วย ก็จะเกิดเหตุการณ์ล้มเป็นโดมิโน ถ้าเข้าช่วย เงินกู้ที่ส่งไปอาจจะกลายเป็น NPL ชนิดถมท่าไรไม่เต็มสักที ทำให้ธนาคารกลางและเงินดอลลาร์สูญเสียความน่าเชื่อถือในสายตาชาวโลก ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยิ่งสั่นคลอน มีผลกระทบไปถึงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงที่แย่อยู่แล้วให้กลับยิ่งแย่หนักยิ่งขึ้น ทำให้ GDP ติดลบมากขึ้นไปอีก
อย่าลืมว่า วิกฤตรอบนี้กว่าจะรู้ตัวว่า เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เราต้องใช้เวลาถึง 1 ปีเต็ม สมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เมื่อ 70 ปีที่แล้ว สหรัฐใช้เวลาเกือบ 4 ปี ถึงจะได้ข้อสรุปว่าเศรษฐกิจแย่ถึงขั้นตกต่ำ ( Depression ) แล้ว
ตอนนี้เหตุการณ์เพิ่งผ่านมา 15 เดือนแล้ว ( นับจากเดือนที่สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐ (NBER) แถลงยืนยันว่า เศรษฐกิจสหรัฐก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว คือเดือนธันวาคม ปีพ.ศ.2550 ) แต่การจะยืนยันว่าวิกฤตเศรษฐกิจหนนี้จะรุนแรงถึงขั้นตกต่ำหรือไม่ เรายังต้องรอคำยืนยันจาก NBER อีกครั้ง

วัฏจักรเศรษฐกิจจากช่วงรุ่งเรืองสู่ช่วงตกต่ำ
คำถามที่คนมักจะถามกันมากที่สุด คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้เศรษฐกิจตกต่ำถึงขั้นต่ำสุดแล้ว
เราคงต้องใช้ความรู้เรื่องวัฎจักรเศรษฐกิจ และความรู้ทางเทคนิคของดัชนีหุ้นมาคาดการณ์ ตามปกติ ช่วงปลายวัฏจักรของเศรษฐกิจขาลง การค้าการลงทุนจะเงียบเหงา คนจำนวนมากว่างงาน ดอกเบี้ยถูก เงินเฟ้อต่ำ การซื้อขายหุ้นจะเบาบาง และดัชนีหุ้นจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะทุกคนต่างสิ้นหวัง และเข็ดหลาบกับการลงทุน
ตอนนี้ข้อมูลหลายตัวเริ่มปรากฎออกมาให้เห็นแล้ว แต่มันยังไม่สุกงอม เนื่องจากยังมีการเก็งกำไรในหุ้นสหรัฐและราคาน้ำมันแทบทุกวัน ดัชนีดาวโจนส์หุ้นขึ้นลงวันละ 100-300 จุดเป็นว่าเล่น ส่วนราคาน้ำมันก็ผันผวนขึ้นลงวันละ 1-4 ดอลลาร์ได้แทบทุกวัน
การที่เศรษฐกิจจะนิ่ง ต้องผ่านขั้นตอนที่คนส่วนใหญ่สิ้นหวัง เลิกเล่นหุ้น หันหลังให้ตลาดหุ้น จนราคาหุ้น ราคาน้ำมันไม่ขยับ ปริมาณการซื้อขายต้องลดมาจนน่าตกใจ เมื่อนั้นนักลงทุนระยะยาวจึงกลับมา ดัชนีหุ้นจะค่อยๆไต่ขึ้นช้าๆ ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคค่อยๆฟื้นตัว การค้าการลงทุนค่อยๆขยับ เศรษฐกิจจึงจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
เราคนไทยเคยผ่านเหตุการณ์นี้ทำนองนี้มาแล้วมิใช่หรือ
เราเคยเชื่อว่ารัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จะป้องกันเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจไว้ได้ ต่อมาเมื่อมีการลดค่าเงินบาท เราก็เชื่อว่า ค่าเงินบาทคงจะลงไปเพียงเล็กน้อย หลังจากนั้นเราก็เชื่อว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ จะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ในเวลาอันสั้น
แต่ทุกอย่างที่เราเชื่อ ผิดหมด เหมือนกับที่คนอเมริกันเชื่ออยู่ตอนนี้ เพียงแต่เวลาต่างกัน 10 ปี เท่านั้นเอง