การล่มสลายของ Washington Mutual ธนาคารอันดับสองของสหรัฐ หรือการล้มละลายของวาณิชธนกิจยักษ์อย่าง เลห์แมน บราเดอร์ และ แบร์ สเติร์น รวมทั้งการที่ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งเหวกว่า 2,400 จุด หรือ 22% ภายใน 8 วันทำการ ถือเป็นสัญญาณยืนยันว่าฟองสบู่ของสหรัฐได้แตกลงแล้ว
คงจะเป็นการดี ขณะที่คนอื่นพากันบาดเจ็บ แต่เราสามารถอยู่รอดได้ และสามารถทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วใช้ประโยชน์จากปัจจัยที่ดำรงอยู่
บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์และความรับรู้ของผู้เขียนซึ่งอาจจะคาดการณ์ถูกหรือผิดก็ได้ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอเมริกา
1. ดัชนีหุ้นดาวน์โจนส์ร่วงกว่า 30%
คำว่า ฟองสบู่แตก หมายความว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ถูกเร่งขึ้นเกินพื้นฐานจากการเก็งกำไร เมื่อความเชื่อมั่นสั่นคลอนและปะทุจนถึงขั้นแตกตื่น ทุกคนจะชิงขายหุ้นเพื่อเอาตัวรอดก่อนที่ตลาดจะถล่มทลาย โดยทั่วไประดับที่จะเรียกว่า ฟองสบู่แตก ดัชนีหุ้นควรจะร่วง 30% ขึ้นไป จากระดับสูงสุด แต่ถ้าลดลงเพียง 10-15% จะถือเป็นการปรับฐานธรรมดา
2. GDP ถดถอยหรือต่ำเรี่ยดิน
เมื่อฟองสบู่แตก จะเกิดภาวะ เครดิต ช็อค ความเชื่อมั่นจะถดถอย ผู้คนจะขาดความเชื่อมั่นในอนาคต ขาดความเชื่อมั่นในเครดิตของคู่ค้า การค้าจะหดตัว ภาวะซบเซานี้อาจดำรงอยู่เป็นเวลา 3-5 ปี กว่าจะค่อยๆฟื้นต้วขึ้นมา
3. หุ้นเอเซีย กอดคอกันร่วง
เศรษฐกิจประเทศย่านเอเซีย พึ่งพาการส่งออกเป็นกำลังขับเคลื่อนหลัก เมื่อสหรัฐซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ชลอการใช้จ่าย ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกมากๆ เช่น ไต้หวัน เกาหลี หรือสิงคโปร์ จะได้รับผลกระทบทันที แต่เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงมากในขณะนี้ ไม่ว่า ทุนสำรอง , กำลังซื้อในประเทศ ทำให้เขาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วใน 1-2 ปี แต่แน่นอนว่า ก่อนจะฟื้นตัว ตลาดหุ้นย่านนี้ก็คงกอดคอกันร่วง 30-50% เป็นอย่างน้อย
4. ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอีก ก่อนกลับมาแข็งค่า
เมื่อเศรษฐกิจประเทศทรุด ค่าเงินควรจะอ่อนค่าลงอีก แต่เศรษฐกิจอเมริกาแสดงอาการมาหลายปีแล้ว ค่าเงินดอลลาร์ได้ทยอยอ่อนค่ารับข่าวไปมากแล้ว จึงคาดว่าค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าไปอีกไม่มาก และอาจฟื้นตัวในเวลาอันรวดเร็ว เพราะเงินที่ถูกส่งออกไปลงทุนต่างประเทศก่อนหน้า เมื่อเห็นค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาก ก็จะมีการแลกเปลี่ยนกลับมา เพื่อซื้อทรัพย์สินราคาถูกกลับคืน ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าในเวลาไม่ช้า
5. ดอกเบี้ยจะลดฮวบในระยะยาว
ตามปกติ เมื่อประเทศเล็กๆอย่างเม็กซิโก หรือ ไทย ประสบปัญหาฟองสบู่แตก เงินทุนจะไหลออก ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ดอกเบี้ยในประเทศจะพุ่งสูงในระยะสั้น ตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยาวนาน ดอกเบี้ยก็จะตกต่ำตาม
แต่สำหรับประเทศสหรัฐมีเงินลงทุนในต่างประเทศจำนวนมหาศาล เงินลงทุนน่าจะไหลกลับเพื่อชดเชยการลงทุนที่ขาดทุนในประเทศ ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐสามารถพิมพ์ธนบัตรดอลลาร์ออกสู่ตลาดได้ไม่จำกัด โดยไม่มีใครตรวจสอบได้ ทำให้ไม่เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง แต่อาจทำให้เงินล้นระบบ ขณะที่คนไม่กล้าลงทุน ทำให้ดอกเบี้ยอยู่ระดับเรี่ยดินไปอีกหลายปี
6. ราคาน้ำมันลด
ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงในตอนนี้ ใครๆก็รู้ว่าเป็นการเก็งกำไรของกลุ่มเฮดจ์ฟันด์ พยายามหาข่าวมาปั่นราคา เมื่อเศรษฐกิจอเมริกามีปัญหา เศรษฐกิจจีน และ เอเซียจะชลอตัวตาม การใช้น้ำมันจะลดน้อยลง ประกอบกับปัจจัยทางด้านจิตวิทยา ราคาน้ำมันจะลดตามมา เหมือนเหตุการณ์สมัยฟองสบู่ต้มยำกุ้ง แต่ราคาคงจะไม่ลดลงมาถึง 18-20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเหมือนสมัยนั้น แต่อาจจะลงมา 40-50% อยู่แถวๆ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งก็พอจะลดภาระของผู้ใช้น้ำมันได้พอสมควร
7. ราคาทองร่วง
ปัจจุบัน ถือว่าหมดยุคของการใช้ทองคำเป็นทุนสำรองของประเทศต่างๆแล้ว แต่ที่ราคาทองพุ่งสูง เพราะนักลงทุนใช้ทองเป็นตัวปกป้องความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ ( inflation hedge ) เมื่อน้ำมันมีราคาสูงขึ้น ทองก็ขยับราคาตาม หากราคาน้ำมันลง ทองคำพร้อมจะร่วงตาม
ผลกระทบที่จะเกิดในไทย
1. ค่าเงินบาทอ่อนลง
เรื่องนี้อาจจะขัดกับความรู้สึกของเรา แต่ด้วยความที่สภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยที่มีค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคนี้ อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) ก็มีนโยบายควบคุมเงินทุนระยะสั้น จึงเป็นไปได้มากว่า เมื่อฟองสบู่สหรัฐแตก เงินบางส่วนจะเลือกเคลื่อนย้ายไปประเทศเอเซียอื่นๆแทน ขณะที่เงินทุนสหรัฐที่เคลื่อนย้ายเข้าไทยก่อนหน้านี้ อาจจะไหลกลับประเทศ ตามคำสั่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนของนักลงทุนสหรัฐ เมื่อเงินไหลออกมากกว่าไหลเข้า ย่อมทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง
2. ดอกเบี้ยลด
เมื่อสหรัฐซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดทรุดตัวลง ดอกเบี้ยที่ตกต่ำในสหรัฐจะกดดันให้ดอกเบี้ยทั่วโลกลดลงด้วย หากดอกเบี้ยไทยปรับสูงขึ้นมากเกินไป นักธุรกิจก็พร้อมจะกู้เงินจากสหรัฐเข้ามาลงทุนในไทย และเป็นไปได้ว่าจากบทเรียนที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่จะประกันความเสี่ยงค่าเงินเข้าไปด้วย
3. เศรษฐกิจชลอตัว
หลายปีที่ผ่านมา ไทยอาศัยการส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ ถึงแม้หลายปีที่ผ่านมา เราจะลดการส่งออกไปอเมริกามากพอสมควร แต่ก็เพิ่มการส่งออกไปจีน อินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่ซื้อวัตถุดิบต้นน้ำเพื่อไปผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐอีกต่อ หากเศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำเราย่อมรับผลกระทบไปด้วย และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น กำลังซื้อในประเทศหรือการลงทุนในประเทศ จะยังไม่มีแรงขับเคลื่อนมากพอที่จะทดแทนการส่งออก ทำให้ GDP ของไทยอาจลดลง 1-2 % จากปัจจุบัน
4. หุ้นร่วง 30%
3-4 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยถูกขับเคลื่อนด้วยหุ้นกลุ่มพลังงานที่มีสัดส่วนถึง 40% ของมูลค่ารวมของตลาดทุนไทย หากฟองสบู่อเมริกาแตก ราคาน้ำมันที่ลดฮวบจะส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงานทั้งหมดลดลง 40-50% ไปด้วย ทำให้ตลาดหุ้นรวมร่วงตามอย่างน้อยๆก็ 30-40 % จากจุดสูงสุดปัจจุบัน
แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร
1. ถ้าดอกเบี้ยขึ้นสูงในช่วงแรก ซื้อกองทุนตราสารหนี้
อาจเป็นไปได้ว่า ช่วงแรกของการทรุดตัว ถ้าเกิดภาวะ เครดิต ช็อค เงินตึงตัว ดอกเบี้ยอาจปรับสูงขึ้น ให้รีบซื้อกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว เพราะเมื่อดอกเบี้ยอ่อนตัว ตราสารหนี้เหล่านี้มักจะมีราคาสูงขึ้นสวนทางดอกเบี้ยที่ลดลง
2. รอซื้อหุ้นสหรัฐ
คงจำกันได้ว่าหลังฟองสบู่ไทยแตก ราคาหุ้นของไทยลดลงกว่า 70% แต่เมื่อตลาดฟื้นตัว ราคาหุ้นพื้นฐานดีก็ดีดกลับ นี่อาจเป็นโอกาสทองในการซื้อหุ้นสหรัฐผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ ( FIF ) แล้วรอเวลาเก็บเกี่ยว จะได้กำไรทั้งราคาหุ้นและค่าเงิน
3. ขายทองแท่ง
สำหรับใครที่ซื้อทองแท่งไว้เก็งกำไร เมื่อฟองสบู่แตก อาจจะมีบางคนที่แตกตื่น ตกใจรีบขายดอลลาร์ออกมา แล้วไปซื้อทองเพิ่มอีกเป็นรอบสุดท้าย ถ้าคุณไม่ขายตอนนั้น คุณจะขายตอนไหน เพราะนั่นคือโอกาสสุดท้ายของการขายทองในราคาสูง
4. ประหยัด
ถ้าคุณไม่พร้อมลงทุน หรือเป็นคนไม่ชอบความเสี่ยง สิ่งที่คุณทำได้ คือ ประหยัด ดำรงชีวิตด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถึงแม้ราคาน้ำมันจะลดลง เงินเฟ้อต่ำลง แต่ การทำมาหากินอาจฝืดเคืองลง เงินอาจจะไม่สะพัดเหมือนเดิม การประหยัดไม่เคยฆ่าใคร เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ค่อยนำเงินมาใช้ เงินไม่บูดไม่เน่าหรอกครับ
หวังว่า สิ่งที่เขียนมานี้ คงจะไม่สายเกินไป และน่าจะมีประโยชน์กับพวกเราบ้างพอสมควร ความจริงสิ่งที่เขียนมา ก็มาจากบทเรียนตอนฟองสบู่ต้มยำกุ้งทั้งนั้น
ไม่น่าเชื่อว่า 10 ปีให้หลัง สหรัฐต้องมาเรียนบทเรียนเดียวกับไทย แถมยังไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นจากบทเรียนที่เราเคยประสบมาเลย
หมายเหตุ บทความนี้ เขียนขึ้นครั้งแรกในวันที่ 18 ตุลาคม พศ.2550 ในบล็อกชื่อ www.oknation.net/blog/banyong ในบทความข้างต้น มีการปรับตัวเลขให้สอดคล้องกับปัจจุบันมากขึ้น แต่หลักการยังคงเดิม