คนทั่วไปมักเข้าใจว่า การประกันชีวิตเป็นการประกันความคงอยู่ของชีวิต คือ หากสิ้นลมหายใจ ก็จะได้รับสินไหมทดแทน แต่ในทางวิชาการ การประกันชีวิตเป็นการประกันคุณค่าทางเศรษฐกิจของบุคคล โดยดูที่ความสามารถในการสร้างรายได้ว่า ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ต่อไป จะสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวหรือองค์กรได้อีกเท่าไร แล้วจึงนำมูลค่าตรงนั้นมากำหนดเป็นวงเงินคุ้มครอง
อย่างไรก็ตามนั่นเป็นการมองในแง่อุดมคติ ยังมีการมองในแง่มุมอื่นเช่นว่า ถ้าเขาจากไป ทำอย่างไรให้ครอบครัวของเขาเดือดร้อนน้อยที่สุด โดยนำทุนประกันชีวิตที่ได้ไปชดเชยหรือรองรับภาระที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ประกันชีวิตเท่าไรถึงพอ
ปัจจุบันมีแนวคิดในการคำนวณทุนประกันที่เหมาะสมอยู่ 2 แนวทาง คือ ตามศักยภาพของบุคคล หรือตามภาระที่บุคคลพึงรับผิดชอบ โดยรายละเอียดในแนวคิดเหล่านั้นเป็นดังนี้
1. คำนวณตามศักยภาพ ( Potential Base )
ถึงแม้มูลค่าที่แท้จริงของบุคคล คือ จำนวนรายได้ทั้งหมดที่คาดว่าเขาจะทำขึ้นมาได้ในช่วงชีวิตที่เหลือ หรือจนกว่าจะเกษียณอายุ แต่วงเงินที่คำนวณได้มักจะสูงเกินกว่าที่เราจะจ่ายเพื่อทำประกันได้ โดยเฉพาะคนที่เริ่มต้นทำงานใหม่ๆ
ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงมีการกำหนดว่า บุคคลควรมีวงเงินประกันเท่ากับ 5 เท่าของรายได้ต่อปี เช่น นาย ก. มีเงินเดือนๆละ 50,000 บาทและได้รับโบนัสตอนสิ้นปีอีก 2 เดือน รวมทั้งปีมีรายได้เท่ากับ 700,000 บาท ดังนั้น ทุนประกันที่เหมาะสมจะเท่ากับ 700,000X 5 = 3.5 ล้าน
สำหรับเหตุผลที่กำหนดให้มีวงเงินประกันเป็น 5 เท่าของรายได้ต่อปีนั้น เพราะว่าเวลา 5 ปี เป็นช่วงเวลาที่พอสมควร ที่คนในครอบครัวจะได้ปรับตัว แม่บ้านที่หยุดทำงานมานาน หากต้องออกมาทำงานใหม่ ก็พอมีเวลาหางานและฝึกทักษะการทำงานอีกครั้ง หรือจะขยับขยาย หาธุรกิจใหม่มาทำ เพื่อทำหน้าที่หารายได้แทนสามีต่อไป
บางตำราบอกว่า ควรให้เวลาครอบครัวปรับตัวถึง 7 ปี แต่รายได้ที่นำมาคำนวณนั้นควรจะคิดเพียง 70% ของรายได้ต่อปี เพราะในช่วงที่ผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่นั้น รายได้ส่วนหนึ่งต้องนำไปจ่ายภาษีและค่าใช้จ่ายส่วนตัว เหลือเงินรายได้ให้ครอบครัวเพียง 70%
ดังนั้นเมื่อเขาไม่อยู่ ก็ให้ใช้ตัวเลขเพียง 70%ของรายได้ในการคำนวณ แต่เมื่อคำนวณออกมาเป็นวงเงินประกันจะได้เท่ากับ 70%X 7 = 490% ของรายได้ต่อปี ซึ่งจะใกล้เคียงกับ 5 เท่าของรายได้ต่อปีนั่นเอง
2. คำนวนตามภาระค่าใช้จ่าย ( Need Base )
วิธีนี้ ดูตามความจำเป็นของครอบครัว ว่าหากสูญเสียเราไปครอบครัวยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพราะถ้าเป็นไปได้เราคงอยากรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไว้เอง
ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้แก่ ค่าใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัว , หนี้สินที่คงค้างอยู่ , ค่าเล่าเรียนของลูกๆ , ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายครั้งสุดท้ายซึ่งได้แก่ค่าฌาปนกิจ
อย่างไรก็ตาม พวกเราแต่ละคนย่อมมีการเตรียมการ หรือมีสมบัติบางส่วนที่สามารถเปลี่ยนไปเป็นเงินเพื่อไปรับภาระเหล่านี้บ้าง
ดังนั้น วงเงินประกันที่ต้องการจะเท่ากับ จำนวนเงินที่ยังขาดหลังจากการนำทรัพย์สินที่มีอยู่ไปหักจากภาระค่าใช้จ่าย
ทุนประกัน = ภาระ สินทรัพย์ที่มีอยู่
ภาระได้แก่
1. ค่าใช้จ่ายของครอบครัว คูณด้วยจำนวนปีที่เราอยากให้เขาอยู่ได้ เสมือนว่าเรายังมีชีวิตอยู่
2 .หนี้สินที่คงค้างทั้งหมดไม่ว่า ค่าจำนองบ้าน , หนี้รถยนต์ หรือหนี้บัตรเครดิต
3. ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ ตามจำนวนปีที่คาดว่าท่านยังมีชีวิตอยู่
4. ค่าเล่าเรียนของลูกทุกคนจนกว่าเขาจะเรียนจบ
5. ค่าใช้จ่ายในวาระสุดท้ายของเราได้แก่ งานฌาปนกิจ เป็นต้น
ขณะที่ทรัพย์สินที่บางท่านอาจมีเตรียมไว้แล้ว เช่น
1. ทุนประกันที่เรามีอยู่แล้วในปัจจุบัน
2. สินทรัพย์สภาพคล่องที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้หลังเราเสียชีวิต
3. กองทุนต่างๆหรือเงินทดแทนที่บริษัทของเราจ่ายให้เมื่อเสียชีวิต
หากสรุปเป็นสมการใหม่ จะได้ดังนี้
วงเงินประกันชีวิตที่ต้องทำเพิ่ม = รายจ่ายของครอบครัว + หนี้สิน + ทุนการศึกษาลูก + ค่าทำศพ - วงเงินประกันชีวิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน - สินทรัพย์สภาพคล่องสูง - เงินกองทุนจากบริษัทนายจ้าง
ในกรณีที่เรามีทุนประกัน หรือสินทรัพย์รวมกันมากกว่าภาระที่จะเกิดขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องทำประกันเพิ่ม เว้นแต่ว่าเรายังต้องการให้ทายาทของเรามีทุนรอนเหลือเฟือ เพื่อเขาจะอยู่ได้อย่างสบาย และสามารถส่งต่อความมั่งคั่งไปสู่ชั้นลูกชั้นหลานต่อไป