ReadyPlanet.com
dot dot
dot
วางแผนการเงิน
dot
bulletทำไมต้องวางแผนการเงิน
dot
วางแผนเกษียณอายุ
dot
bulletวางแผนเกษียณอย่างง่าย
dot
วางแผนภาษีอากร
dot
bulletทำไมต้องวางแผนภาษี
bulletเทคนิควางแผนภาษีส่วนบุคคล
bulletเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี
bulletค่าใช้จ่ายของแต่ละอาชีพ
bulletสิทธิหักลดหย่อนภาษี
bulletวิธีคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา
dot
วางแผนการลงทุน
dot
bulletข้อคิดก่อนลงทุน
bulletการจัดพอร์ตลงทุน
dot
วางแผนการประกัน
dot
bulletหลักพื้นฐานการประกันภัย
bulletประกันชีวิตเท่าไรถึงพอ
dot
Newsletter

dot




หลักทรัพย์ที่ควรร้จัก

       โลกของเราเปลี่ยนแปลงทุกวัน  สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ  คนเราต้องแก่ลง  และต้องมีเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ  การลงทุนจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น  ขณะเดียวกัน  การลงทุนโดยไม่มีความเข้าใจที่มากพอ  ก็อาจทำลายเงินออมทั้งก้อนที่เราเฝ้าอุตส่าห์เก็บมาตลอดชีวิตก็ได้

         ในบทความชิ้นนี้  จะเป็นเพียงการแนะนำหลักทรัพย์ทางการเงินชนิดต่างๆให้เรารู้จักแบบคร่าวๆ  หากเราสนใจจะลงทุนสินค้าชนิดใดคงต้องไปศึกษาข้อมูลลึกลงไปในหลักทรัพย์นั้นๆ   ก่อนตัดสินใจลงทุนจริงๆ

         หลักทรัพย์ทางการเงินที่ควรรู้จัก

        1. หุ้นสามัญ  (  COMMON  SHARE  ,  STOCK  )  คือ  เอกสารที่แสดงสิทธิในความเป็นเจ้าของของบริษัท  หรือ  กิจการใดกิจการหนึ่ง
        วัตถุประสงค์ของบริษัทที่ออกขายหุ้น  เพื่อระดมเงินทุนขยายกิจการ  แต่ผู้ซื้อหุ้นหรือผู้ถือหุ้น  มีวัตถุประสงค์เพื่อหวังผลกำไรจากเงินปันผล  และการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น
       การเป็นผู้ถือหุ้น  ยังทำให้เรามีสิทธิมีส่วนในการกำหนดแนวนโยบายของบริษัท  แต่สิทธิดังกล่าวจะมากน้อยเพียงใด  ขึ้นกับว่า  เราถือหุ้นบริษัทนั้นมากน้อยเพียงใดด้วย

        2. หุ้นบุริมสิทธิ์  (  PREFERED  SHARE  )  คือหุ้นประเภทหนึ่งที่ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นมากกว่าหุ้นสามัญ  อย่างน้อยสองประการ  คือ
       ประการแรก  มีสิทธิรับเงินปันผลในอัตราที่แน่นอนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ  เงินปันผลที่ไม่จ่ายในปีปัจจุบันก็ให้สะสมไปจ่ายในอนาคตได้  ขึ้นกับข้อกำหนดในการออกหุ้นบุริมสิทธิ์ในครั้งนั้นๆ
       ประการที่สอง  หากบริษัทต้องเลิกกิจการ  ผู้ถือหุ้นมีสิทธิได้รับการแบ่งทรัพย์สินก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ  โดยทั่วไป  บริษัทจะออกหุ้นบุริมสิทธิ์ในภาวะที่บริษัทเกิดวิกฤต  ระดมเงินทุนไม่ได้  จึงต้องจูงใจผู้คน   โดยให้สิทธิพิเศษมากกว่าผู้ถือหุ้นเดิม  แต่บริษัทมักกำหนดให้  ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์  ไม่มีสิทธิในการออกเสียงและไม่มีสิทธิในการรับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัท

        3. หุ้นกู้  (  DEBENTURE  ,  CORPORATE  BOND  )  คือ  เอกสารที่แสดงสิทธิเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท  หรือ  กิจการใดกิจการหนึ่ง
      บริษัทออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนขยายกิจการ  แต่ทำในรูปของการกู้ยืมประชาชนโดยกำหนดระยะเวลา  และอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน  (  ว่าเป็นคงที่หรือลอยตัวตามอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง  )  โดยทั่วไปหุ้นกู้จะมีอายุ  3-7  ปี  ดอกเบี้ยมักสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร   แต่เป็นการกู้ที่ไม่มีหลักประกัน  การจ่ายดอกเบี้ยจะจ่ายเป็นงวดๆ   เมื่อครบกำหนดผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืน
      บริษัทเลือกจะกู้เงินจากประชาชนโดยตรง  เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าการกู้เงินจากธนาคาร  ระยะเวลากู้ยาวนานกว่า  ทำให้บริหารเงินได้ง่าย  หรือ  อยู่ในภาวะที่ธนาคารอาจไม่ยอมปล่อยกู้เพิ่มเติมให้แล้ว  จึงต้องหาช่องทางกู้เงินจากประชาชนแทน
      ส่วนผู้ลงทุนซื้อหุ้นกู้  เพราะ  ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าฝากธนาคาร  ,  มีผลตอบแทนคงที่  และยังสามารถทำกำไรได้จากการขายหุ้นกู้  ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มลดลง  หุ้นกู้จะมีราคาสูงขึ้น
     หุ้นกู้มีหลายประเภท  เช่น
     - หุ้นกู้แปลงสภาพ  คือ  หุ้นกู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษสามารถเลือกแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้  หรือจะถือเป็นหุ้นกู้ต่อเพื่อรับดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้  จนครบกำหนดก็ได้   ผู้ลงทุนจะใช้สิทธิแปลงสภาพก็ต่อเมื่อราคาหุ้นสามัญอยู่สูงกว่าราคาแปลงสภาพ
     - หุ้นกู้มีหลักประกัน  คือ  หุ้นกู้ที่มีสถาบันการเงิน  หรือ  บริษัทอื่นที่มั่นคงกว่ามาค้ำประกันหนี้สินให้  หรือ  บริษัทผู้ออกหุ้นกู้  อาจยินยอมให้เอาทรัพย์สิน  เช่น  ที่ดิน  ,ตัวโรงงาน  มาค้ำประกันหนี้สิน
     - หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์  คือหุ้นกู้ที่กำหนดให้มีสิทธิเรียกร้องต่อบริษัทเป็นลำดับท้ายๆในกลุ่มหุ้นกู้ด้วยกันในกรณีที่บริษัทปิดกิจการลง  แต่มักให้ดอกเบี้ยสูงมาก
       หมายเหตุ  ลำดับสิทธิ์ในการเรียกร้องต่อสินทรัพย์ของบริษัท  ในกรณีที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งปิดกิจการ  คือ รัฐบาล  (  กรมสรรพากร  ) , พนักงาน ลูกจ้าง  ,  เจ้าหนี้หรือผู้ถือหุ้นกู้มีหลักประกัน  , เจ้าหนี้การค้า  ,  เจ้าหนี้ทั่วไป  ,  ผู้ถือหุ้นกู้  ,  หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์  ,  หุ้นบุริมสิทธิ์  และหุ้นสามัญ

      4. สลิปส์ -  แคปส์  (  SLIPS  ,  CAPS  )  คือ  หุ้นบุริมสิทธิ์ควบหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์  ที่สถาบันการเงินนำออกมาขายระดมทุนในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน  เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มทุนในรูปของหุ้นสามัญได้  จึงระดมทุนในรูปหุ้นบุริมสิทธิ์  ที่มีหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ดอกเบี้ยสูงถึง  22  %  มาจูงใจ  โดยคาดการณ์ว่า  ในช่วง  5  ปีแรก  บริษัทคงยังไม่มีกำไรมาจ่ายเงินปันผลให้หุ้นบุริมสิทธิ์  ดอกเบี้ยรับเฉลี่ยจึงตกปีละ  11  %  เมื่อครบ  5  ปีสถาบันการเงินเหล่านี้มีสิทธิไถ่ถอนหลักทรัพย์ดังกล่าวได้

       5.  พันธบัตร   (  GOVERNMENT  BOND  )  คือ  หุ้นกู้ที่ออกโดยรัฐบาล  หรือรัฐวิสาหกิจโดยมีรัฐบาลค้ำประกัน  ความเสี่ยงจากการไม่ได้เงินลงทุนคืนจึงแทบไม่มี  ดอกเบี้ยมักจะต่ำกว่าหุ้นกู้ทั่วไป  แต่ยังคงสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร  เนื่องจากระยะถือครองยาวนานกว่า

       6.  วอร์แรนท์   (  WARRANT  )  คือ  เอกสารแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญในอนาคตในจำนวนและราคาที่กำหนดไว้  บริษัทมักออกวอร์แรนท์เพื่อจูงใจผู้ถือหุ้นในกรณีต้องการเพิ่มทุนโดยอาจจะให้ฟรี  หรือ  จำหน่ายในราคาถูก  ผู้ถือวอร์แรนท์จะใช้สิทธิก็ต่อเมื่อราคาหุ้นสามัญสูงกว่าราคาใช้สิทธิแปลงสภาพ  โดยที่ต้นทุนในการถือวอรํแรนท์ต่ำกว่าหุ้นสามัญ  แต่  การเปลี่ยนแปลงของราคาใกล้เคียงกับหุ้นสามัญ  จึงถือเป็นหลักทรัพย์ที่มีความผันผวนของราคาสูงมาก

       7.  สัญญาสิทธิ์  (   OPTION  )   คือ  เอกสารแสดงสิทธิที่จะซื้อ  หรือ  ขายทรัพย์สินที่ระบุไว้  โดยไม่บังคับว่าต้องซื้อ  หรือขายตามที่ระบุไว้นั้น  โดยทั่วไปตราสารนี้จะระบุเงื่อนไขต่างๆ  เช่น  วันที่ใช้สิทธิ์  ราคาหรือจำนวนของตราสาร  ที่ผู้ถือสามารถใช้สิทธิ์ซื้อหรือขายให้
      สิทธิ์ในการซื้อหลักทรัพย์ที่ระบุไว้  เรียกว่า    CALL  OPTION  สิทธิ์ในการขายเรียกว่า  PUT  OPTION   วอร์แรนท์จัดเป็นสัญญาสิทธิ์ชนิด CALL  OPTION

      8. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า  (  FORWARD หรือ  FUTURE  )  คือ  สัญญา  หรือข้อตกลงที่ผู้ถือหุ้น  และผู้ออกตราสารต้องดำเนินการซื้อหรือขาย  และส่งมอบทรัพย์สินตามราคาและจำนวนที่ระบุไว้  ณ วันสิ้นสัญญา เป็นการเก็งกำไรภาวะการณ์ในอนาคตที่มีความเสี่ยงสูงสุด  เนื่องจากถูกบังคับให้ปฎิบัติตามสัญญาซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว

       9. บัตรเงินฝาก  (  NEGOTIABLE  CERTIFICATE  OF  DEPOSIT  /  NCD  )  คือตราสารชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายการฝากเงินแบบประจำ  ที่ธนาคารพาณิชย์ออกให้แก่ผู้ฝากเงิน  ต่างจากการฝากประจำตรงที่สามารถเปลี่ยนมือจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้  และจำนวนเงินขั้นต่ำในการฝากเงินอยู่ที่  5  แสนบาท  โดยระยะเวลาที่ฝากจะอยู่ระหว่าง 3  เดือนถึง  3  ปี  แล้วแต่จะกำหนด   ผู้ถือจะได้รับเงินต้น   และดอกเบี้ยทั้งหมดก็ต่อเมื่อถือจนครบกำหนด  ดังนั้นผลตอบแทนจึงมักมากกว่าการฝากประจำ  

       10.  ตั๋วสัญญาใช้เงิน   (  PROMISSORY  NOTE  /   P/N  )  เป็นหนังสือซึ่งผู้ออกตั๋วให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่ง  ให้แก่บุคคลหนึ่ง   คล้ายๆการเขียนเช็คล่วงหน้าเพียงแต่ผู้ออกตั๋วต้องอยู่ในรูปของบริษัท  และตั๋วเงินนี้ต้องติดอากรแสตมป์ให้เรียบร้อย
         แต่ความหมายของตั๋วสัญญาใช้เงินในท้องตลาดหมายถึง   ตั๋วเงินที่บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์  จะออกให้กับผู้ฝากเงิน  ซึ่งมักให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากธนาคาร  การฝากเงินสามารถฝากได้ตั้งแต่  10,000  บาทขึ้นไป  ตามกำหนดเวลาที่ต้องการ

       11.  ตั๋วแลกเงิน  (  BILL  OF  EXCHANGE  /   B/E  )  เป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่งที่ออกโดยบริษัทจำกัด  ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน  เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนระยะสั้น  3 - 12  เดือนมีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารและตั๋วสัญญาใช้เงิน  ( P/ N )  ของบริษัทเงินทุน
       บริษัทเอกชนนิยมออกตั๋วแลกเงินแทนหุ้นกู้  เพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทต่อสาธารณชน   และไม่ต้องการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบริษัทจัดอันดับเครดิตมาจัดทำอันดับความน่าเชื่อถือให้เหมือนการจำหน่ายหุ้นกู้
       ตามปกติ  บริษัทจะออกตั๋วแลกเงินเพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจการค้า  มากกว่าใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนระยะยาว  แต่ระยะหลังเริ่มมีบริษัทบางแห่งใช้ตั๋วแลกเงินในการระดมทุนระยะยาว  โดยขยายเวลาเป็น  3  ปี  เพื่อทดแทนการออกหุ้นกู้
        ตั๋วแลกเงิน  สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้  มีระยะเวลาไถ่ถอนสั้นกว่าตราสารอื่น ทำให้เกิดความคล่องตัว  บริหารได้ง่าย  และบริษัทที่ออกตั๋วแลกเงินมักเป็นบริษัทขนาดใหญ่   จึงได้รับความนิยมจากนักลงทุนสถาบัน  เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
       ตั๋วแลกเงิน  จะมีธนาคารพาณิชย์ค้ำประกัน  (  อาวัล  )  ให้หรือไม่ก็ได้   หากผู้ออกตั๋วต้องการให้ตั๋วแลกเงินของตนดูน่าเชื่อถือและได้รับความนิยม  ก็ให้ธนาคารค้ำประกัน  โดยในการนี้  ต้องเสียค่าใช้จ่ายบางส่วนให้ธนาคาร

       12. ตั๋วเงินคลัง  (  TREASURY  BILL  )  คือ  ตราสารทางการเงิน   ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออก  เพื่อกู้ยืมเงินระยะสั้นๆ  ไม่เกิน  1  ปี  จากสถาบันการเงินในประเทศ  จำหน่ายโดยวิธีประมูล  ซึ่งกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย  เป็นผู้จัดการประมูลแทน  ผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลได้แก่  สถาบันการเงินต่างๆ  เช่น  ธนาคาร  , บริษัทเงินทุน  ,  บริษัทหลักทรัพย์  ,  บริษัทประกันภัย  ,  บริษัทประกันชีวิต  ,  กองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  โดยจะจัดสรรให้แก่ผู้ที่เสนอผลตอบแทนต่ำสุดก่อน  แล้วจึงจัดสรรให้ผู้ประมูลที่เสนอผลตอบแทนสูงขึ้นตามลำดับ  จนกว่าจะครบวงเงิน

        13.  กองทุนรวมตราสารหนี้  (  FIXED  INCOME  FUND /   BOND  FUND  ) คือ  กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุน  จะนำเงินของผู้ลงทุนไปซื้อหุ้นกู้  , พันธบัตรรัฐบาล  ตั๋วแลกเงิน  ตั๋วสัญญาใช้เงินและเงินฝากเป็นหลัก  เหมาะกับผู้ออมเงินรายย่อยที่ต้องการความเสี่ยงต่ำ   และต้องการสภาพคล่องในการขายหน่วยลงทุน   แต่ต้องยอมรับว่าผลตอบแทนของเราส่วนหนึ่งจะถูกหักเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร   คิดแล้วประมาณ  1  %  ของเงินลงทุน

       14.  กองทุนรวมตราสารทุน  (  EQUITY  FUND  )  คือ  กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุน  จะนำเงินของผู้ลงทุนไปซื้อหุ้นเป็นหลัก  (  บางกองทุนอาจลงทุนในวอร์แรนท์ด้วย  )  เหมาะกับนักลงทุนรายย่อยที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน  แต่ต้องการผลตอบแทนสูง  ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูงด้วย

       15.  กองทุนเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ  (  FOREIGN  INVESTMENT  FUND  /FIF  )  เป็นกองทุนที่ได้รับอนุญาตให้ไปลงทุนในต่างประเทศได้  เป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถแสวงหาแหล่งลงทุนที่มีผลตอบแทนที่ดีกว่า  เป็นการกระจายความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยนและภาวะเศรษฐกิจในประเทศ  โดยทางการได้เปิดให้เริ่มลงทุนได้ในไตรมาสที่  2  ของปี  2545  นี้  เฉพาะกองทุนรวมที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น 

       16.   กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์  (  PROPERTY   FUND )คือ  กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุน  จะนำเงินของผู้ลงทุนไปซื้ออาคารสำนักงาน  หรืออาคารที่พักอาศัย  ที่อยู่ในทำเลที่ดีใจกลางเมือง  และมีผู้เช่าตั้งแต่  80  %  ขึ้นไป  มีรายได้จากการเช่าสม่ำเสมอ  สามารถสร้างผลตอบแทนในรูปของค่าเช่าหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ  8-10  %  ต่อปี  ซึ่งกำไรสุทธินี้จะถูกนำไปจ่ายคืนให้ผู้ลงทุนในรูปของเงินปันผลและยังมีโอกาสทำกำไรเพิ่มได้จากการขายอาคารต่อ  หากมีผู้สนใจจะซื้ออาคารนี้ในอนาคต
       โดยทั่วไปหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะต้องถูกนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถขายทำกำไร  หรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้  ขณะที่นักลงทุนอื่นที่ยังไม่ได้ซื้อหน่วยลงทุนนี้ตั้งแต่แรก  ก็สามารถไปซื้อหน่วยลงทุนนี้ได้ในตลาดหลักทรัพย์

      17. กองทุนส่วนบุคคล  (  PRIVATE  FUND  )  คือ  กองทุนที่สถาบันการเงินผู้ได้
รับอนุญาต  จัดการการลงทุนให้กับบุคคล  หรือ  คณะบุคคลไม่เกิน  10  ราย  โดยมีจำนวนเงินต่อกองทุนไม่น้อยกว่า  10  ล้านบาท  ซึ่งเจ้าของเงินทุนสามารถมีส่วนในการกำหนดนโยบายการลงทุนของตนเองได้

       18. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  (  PROVIDENT  FUND  /  PVD  )  คือ  กองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยความสมัครใจ  เงินกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายสะสมและเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบให้ทุกเดือน  เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างเกษียณอายุหรือ  ออกจากงาน  ลูกจ้างจะถูกกำหนดให้จ่ายเงินสะสมตั้งแต่ร้อยละ  2-15  ของเงินเดือนและนายจ้างจะต้องสมทบเงินไม่น้อยกว่าเงินสะสมของลูกจ้างแต่ไม่เกินร้อยละ  15  ของเงินเดือนลูกจ้าง  เงินสะสมที่ลูกจ้างจ่ายสามารถนำมาหักลดหย่อนในการคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษีตามที่จ่ายจริง  แต่ไม่เกินปีละ  10,000  บาท  ส่วนที่เกิน  10,000  บาทแต่ไม่เกิน 290,000  บาทได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี

       19.  กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  (  GOVERNMENT  PENSION  FUND  /GPF  /  กบข.  )  คือ  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารเงินเกษียณอายุให้ข้าราชการแทนระบบบำเหน็จบำนาญเดิม  ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและฐานะทางการคลังของประเทศ  ข้าราชการจะถูกกำหนดให้จ่ายเงินสะสมร้อยละ 3 ของเงินเดือน  ส่วนรัฐจะจ่ายเงินสมทบให้ร้อยละ 3 เช่นกัน  
       เมื่อสมาชิกเกษียณอายุ  หากอายุราชการไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสะสม   เงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น  หากทำงาน 10 ปีขึ้นไป  แต่ไม่ถึง 25 ปี จะได้รับเงินสะสม  เงินสมทบ  และดอกผลจากกบข.  พร้อมมีเงินบำเหน็จให้อีกก้อนหนึ่ง  ซึ่งเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุราชการ  หากทำงาน 25 ปีขึ้นไป  สมาชิกกองทุนจะได้รับเงินสะสม  เงินสมทบและดอกผลจากกบข.  พร้อมบำเหน็จหรือบำนาญ   หากเป็นบำเหน็จจะเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณอายุราชการ  ถ้าเป็นบำนาญจะเท่ากับเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายคูณอายุราชการหารด้วยห้าสิบ   รับป็นรายได้ต่อเดือน  ไปตลอดชีวิต

       20. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ  (  RETIREMENT  MUTUAL  FUND  /  RMF  )เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารเงินเกษียณอายุให้ประชาชนทั่วไป  โดยเฉพาะคนที่ทำงานอิสระ  ไม่ได้ทำงานบริษัทหรือรับราชการ  เพื่อให้สามารถเตรียมเงินเกษียณอายุได้อย่างเป็นระบบเหมือนสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามบริษัทต่างๆ
       กองทุนนี้  ผู้ลงทุนต้องออกเงินออมแต่เพียงฝ่ายเดียวและมีข้อกำหนดให้  ต้องลงทุนสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง  ไม่น้อยกว่าร้อยละ  3  ของเงินได้ในปีภาษีนั้นหรือไม่น้อยกว่า  5,000  บาทต่อปี  ทั้งนี้  ต้องไม่ขาดการลงทุนในแต่ละกองทุนรวมเกินกว่า  1  ปีติดต่อกัน  โดยกองทุนรวมนี้จะไม่มีการจ่ายเงินปันผล  หรือ  เงินตอบแทนใดๆให้แก่ผู้ลงทุนจะจ่ายเงินทั้งหมดก็ต่อเมื่อผู้ลงทุนแจ้งไถ่ถอน
     ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี  คือ  ผลตอบแทนการลงทุนไม่ต้องเสียภาษี  และ  เงินลงทุนที่เติมเข้าไปในแต่ละปี  ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้  ตามที่จ่ายจริง  โดยเมื่อรวมเงินลงทุนนี้เข้ากับเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ  กบข.แล้ว   ต้องไม่เกิน  500,000  บาทในแต่ละปีภาษี
      เงินที่ลงทุนไปทั้งหมดพร้อมผลตอบแทนจะไถ่ถอนได้ก็ต่อเมื่อผู้ลงทุนมีอายุไม่น้อยกว่า  55  ปี  และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า  5  ปี  หรือ  ไถ่ถอนได้ในกรณีผู้ลงทุนทุพลภาพหรือตาย  โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเริ่มในปีเงินได้  2544  เป็นต้นไป
      กรณีผู้ลงทุนทำผิดเงื่อนไข  ไถ่ถอนก่อนข้อกำหนด    สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับจากการลงทุน  ในส่วนของ 5 ปีสุดท้ายจะต้องถูกเรียกคืนและผลตอบแทนการลงทุนของ  5  ปีท้ายสุดจะต้องถือเป็นรายได้นำมารวมคำนวณภาษีด้วย
       กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพนี้  สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท  เช่น  หุ้นสามัญ  ,  หุ้นกู้  ,  พันธบัตร  , เงินฝาก  หรือ  วอร์แรนท์  แต่ผู้ลงทุนสามารถกำหนดได้ว่าจะเลือกลงทุนในกองทุนประเภทใด  และผู้ลงทุนสามารถโอนย้ายกองทุนจาก  RMF  หนึ่งไปยังอีก RMF หนึ่งได้ เพื่อเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับอายุและภาวะตลาดในตอนนั้น

       21.  กรมธรรม์ประกันชีวิต  (  LIFE  INSURANCE  POLICY  )  เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเรื่องการออมทรัพย์และการคุ้มครองในเวลาเดียวกัน  ผลตอบแทนของกรมธรรม์ประกันชีวิต  มักกำหนดไว้คงที่ที่  5-6  %  ต่อปี  จึงเหมาะกับผู้ที่ไม่ชอบความเสี่ยง  หรือผู้ที่เก็บเงินไม่ค่อยได้  เนื่องจากการเก็บออมโดยการทำประกันชีวิตเป็นวิธีเก็บเงินที่เป็นระบบระเบียบมากที่สุดวิธีหนึ่ง  ผู้ลงทุนต้องเจียดเงินมาเก็บทุกปีเป็นเวลายาวนานถึง  20  ปี  หรือจนครบอายุสัญญา
        สำหรับผู้ลงทุน    ที่ต้องการเก็บเงินเพื่อใช้ยามเกษียณอายุ         มีรูปแบบที่น่าสนใจ 2   แบบคือ  แบบสะสมทรัพย์ซึ่งเป็นการเก็บออมเงินแล้วไปรับเงินก้อน  ไว้ใช้เป็นเงินบำเหน็จเมื่อตอนครบสัญญา  หรือแบบมีเงินได้ประจำ  เป็นแบบเก็บเงินระยะเวลาหนึ่ง  (  ประมาณ 20 ปี  )  หลังจากนั้นไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันอีกแล้ว    แต่จะได้รับเงินบำนาญไว้ใช้ทุกปี   ไปตลอดชีวิต  ซึ่งแบบหลังนี้ยังสามารถป้องกันญาติพี่น้องหรือคนรู้จัก   มาหยิบยืมเงินก้อนสุดท้ายที่จะเก็บไว้ใช้ในบั้นปลายของชีวิตได้
        เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนรู้จักเก็บออมเงิน   เพื่อจะได้ดูแลรับผิดชอบตนเองเมื่อตอนแก่  จึงสนับสนุนให้ลดหย่อนภาษีได้ถึงปีละ  100,000  บาท  ดอกผลที่เกิดจากการทำประกันชีวิตทุกบาททุกสตางค์ไม่ต้องเสียภาษี  และยังมีกฎหมายคุ้มครองพิเศษ  ให้เงินสินไหมประกันชีวิตเป็นเงินปลอดหนี้สิน  เจ้าหนี้ไม่สามารถยึดได้เกินกว่าเบี้ยประกันที่ได้จ่ายไปซึ่งจะแตกต่างจากสินทรัพย์อื่นๆที่จะถูกยึดจากเจ้าหนี้ได้  เมื่อผู้ลงทุนเสียชีวิตไป

       22. อินเวสต์เมนต์ลิงค์  /  ยูนิตลิงค์  (  INVESTMENT  LINKED  /  UNIT  LINK  )คือ  แบบประกันชนิดหนึ่งที่มีส่วนผสมของประกันแบบชั่วระยะเวลา  และ  กองทุนรวมอยู่ในฉบับเดียวกัน  เบี้ยประกันที่จ่ายทุกปี  ได้รวมเบี้ยประกันปกติและเงินลงทุนเข้าไว้ด้วยกันแล้ว แต่ผู้เอาประกันสามารถเพิ่มเงินลงทุนได้ตลอดเวลา  และในเวลาเดียวกันก็สามารถขายหน่วยลงทุนที่ซื้อเพิ่มนี้ได้ทุกเวลาเช่นกัน
        บริษัทประกันจะนำเงินเหล่านี้ไปลงทุนในหลักทรัพย์เหมือนกองทุนรวมทั่วไป  และให้สิทธิลูกค้าเลือกได้ว่าจะลงทุนในกองทุนประเภทใด  ในสัดส่วนเท่าไร  หรือ  จะโอนย้ายประเภทของกองทุนก็ได้เช่นกัน
        เนื่องจาก  อินเวสต์เมนต์  ลิงค์  นับเป็นประกันชีวิตชนิดหนึ่ง  จึงต้องมีขั้นตอนพิจารณา  อายุ  ,  สุขภาพ  ,ฐานะทางการเงิน   เหมือนประกันชีวิตทั่วไป  แต่ก็ได้สิทธิรับความคุ้มครองเงินลงทุนจากเจ้าหนี้  และได้สิทธิประโยชน์เรื่องภาษีเหมือนประกันชีวิตทุกประการ

                เราได้รู้จักหลักทรัพย์ หรือช่องทางการลงทุนข้างต้นแบบคร่าวๆแล้ว  ตอนนี้อยู่ที่ว่าเราสนใจแนวทางการลงทุนแบบไหน  เรามีความชำนาญมากน้อยเพียงใด  หรือ  จะมอบหมายให้นักลงทุนมืออาชีพจากสถาบันการเงินช่วยลงทุนให้เรา  

        แต่ที่แน่ๆ  เราต้องจัดพอร์ตการลงทุนให้หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง   เพราะการลงทุนใดๆล้วนมีความเสี่ยง  ขนาดเงินคงคลังของประเทศที่มีอยู่เป็นแสนล้านยังหายวับไปในชั่วพริบตา  บริษัทเงินทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศยังล้มละลายในชั่วข้ามคืน  แล้วเราคิดว่า  ในโลกนี้  ยังมีอะไรที่แน่นอนอีกล่ะ




บทความน่าสน

Domain names for sale article
ขุมทรัพย์ในกรมธรรม์
ทองคำ ฤาจะหมดมนต์ขลัง
Dollar Carry Trade แผลงฤทธิ์
กรมธรรม์บำนาญ เรื่องใกล้ตัวที่คุณควรรู้ article
ฝรั่งทิ้งหุ้นกว่า 5 หมื่นล้าน ทำไมหุ้นไทยถึงไม่ลง(มาก) article
ทำไม ทองยังคงทำสถิติราคาสูงสุดใหม่ article
ทำไม หุ้นจึงพุ่ง สวนทางม็อบ article
เฟดขึ้นดอกเบี้ย มั่นใจพ้นจุดต่ำสุด article
5 ศตวรรษของฟองสบู่โลก
บริจาคอย่างไร หักภาษีได้ 2 เท่า
ทำไม ราคาทองคำจึงพุ่งไม่หยุด
MACD สาเหตุที่แท้จริงในตลาดหุ้น
เงินรองรัง เท่าไรถึงพอ
นักลงทุนทิ้งเงินดอลลาร์ มุ่งลงทุนสินทรัพย์อื่น
เงินที่หล่นหาย
สมาคมตัวแทนเตรียมจัดงานสัมมนาระดับโลก
5 คำแนะนำในการซื้อบ้านที่ถูกยึด
พันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ พุ่งแตะ 3.71%
วิกฤตการเงินระลอกสอง article
AIG ถึงคราวต้องล้ม ?
เงินสิบบาท
ช่วยด้วย ฉันซื้อประกันไว้กับ AIG
ช่วยใช้เงินหน่อย
เตือนรัฐรับวิกฤติผู้สูงอายุ
ข่าวดีและข่าวร้ายจากเฟด
CDS ดินระเบิดวิกฤติปี 2008 article
สัญญาเพิ่มเติมในประกันชีวิต หักภาษีไม่ได้แล้ว
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าฟองสบู่อเมริกาแตก
มาวางแผนเกษียณอายุกันเถอะ article
วิธีเป็นเศรษฐีเงินล้าน article
สปส.ปรับเพิ่มเงินบำนาญชราภาพ article
AIG มาถึงวันนี้ได้อย่างไร



Copyright © 2010 All Rights Reserved.