ReadyPlanet.com
dot dot
dot
วางแผนการเงิน
dot
bulletทำไมต้องวางแผนการเงิน
dot
วางแผนเกษียณอายุ
dot
bulletวางแผนเกษียณอย่างง่าย
dot
วางแผนภาษีอากร
dot
bulletทำไมต้องวางแผนภาษี
bulletเทคนิควางแผนภาษีส่วนบุคคล
bulletเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี
bulletค่าใช้จ่ายของแต่ละอาชีพ
bulletสิทธิหักลดหย่อนภาษี
bulletวิธีคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา
dot
วางแผนการลงทุน
dot
bulletข้อคิดก่อนลงทุน
bulletการจัดพอร์ตลงทุน
dot
วางแผนการประกัน
dot
bulletหลักพื้นฐานการประกันภัย
bulletประกันชีวิตเท่าไรถึงพอ
dot
Newsletter

dot




มาวางแผนเกษียณอายุกันเถอะ article

         " ดอกเบี้ยต่ำ  หุ้นเรี่ยดิน  ทำอะไรดี "  เป็นคำถามยอดฮิตของยุคสมัยนี้    ถ้าคุณยังอายุไม่ถึง  40 ปีคุณอาจจะไม่สนใจปัญหานี้เท่าไร    แต่ถ้าคุณอายุ  40 ปีขึ้นไปแล้ว   คุณอาจต้องเริ่มสนใจปัญหานี้แล้ว   เพราะอะไรหรือครับ  เพราะถ้าคุณมารู้สึกตัวตอนอายุ  55-60 ปีแล้ว  ตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว

          สมัยก่อน  การฝากเงินธนาคารเป็นการลงทุนที่ดีอย่างหนึ่ง  นอกจากได้รับผลประโยชน์ในเรื่องการออมแล้ว  ยังให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจในระดับ  7-8% ขึ้นไป แต่นับตั้งแต่ประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี 2540 แล้ว ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันที่ยาวนาน ได้กดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่ประมาณ 3.0 %ต่อปี  และดูเหมือนว่าภาวะเช่นนี้  อาจจะต้องดำเนินไปอีกหลายปี  ซึ่งหมายความว่า ดอกเบี้ยยังมีโอกาสปรับลงไปได้ตลอดเวลา  ตราบใดที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว

        การพูดว่า  ดอกเบี้ยมีโอกาสลดลง  ดูเหมือนว่าจะเป็นการพูดที่เลื่อนลอย  แต่ถ้าเราได้ทราบว่า  ประเทศญี่ปุ่น   ที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ   ตั้งแต่ปี  1990   ผ่านมา 18 ปีแล้ว เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์   ปัญหากับดักสภาพคล่องได้กดดันให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี  อยู่ที่ 0.35%และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ  5 ปีอยู่ที่  0.65 % เท่านั้น  (อัตรา ณ ปี 2008 )

          ดังนั้น   หากรัฐบาลไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้   ดอกเบี้ยเงินฝากคงยังไม่สามารถเงยหน้าขึ้นได้อย่างมั่นคงเหมือนในอดีต เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากยังอยู่ในช่วงต่ำเรี่ยดิน   การคาดหวังที่จะเก็บเงินเกษียณอายุผ่านระบบธนาคารอย่างเดียว  จึงไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดอีกต่อไป แล้วจะมีวิธีใดละ  ที่จะมาทดแทนระบบธนาคาร  ที่เราเคยใช้มายาวนานในประเทศไทย

          ก่อนจะถึงคำถามนั้น   เราต้องถามตัวเราเองก่อนว่า   เราจะเกษียณอายุตัวเราที่อายุเท่าไร และถึงเวลานั้นเราอยากจะมีเงินใช้เดือนละเท่าไร   คำถามนี้  เป็นเรื่องสำคัญ  มันเหมือนกับการถามตัวเองว่า  ตั้งเป้าหมายการเดินทางไว้ที่ไหน  เพื่อเราจะรู้ได้ว่าเราจะเดินทางไปอย่างไร  ใช้พาหนะอะไร  ใช้เส้นทางไหน

          จะเกษียณที่อายุเท่าไร  อาจจะตอบไม่ยาก  แต่ถึงตอนนั้นจะใช้เงินเดือนละเท่าไร  เป็นเรื่องตอบยากจริงๆยิ่งถ้าเหตุการณ์นั้นจะเกิดในอีก  20 ปีข้างหน้า เราไม่รู้ว่า ค่าครองชีพ ณ ตอนนั้นเป็นอย่างไร มีค่าใช้จ่ายใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ ถึงเวลานั้น รัฐจะจัดสรรสวัสดิการให้คนสูงอายุได้มากน้อยขนาดไหน

          แต่ในบทความนี้  จะมองในแง่อนุรักษ์นิยม  ยังไม่คาดหวังการจุนเจือจากรัฐบาล  เพราะ  ถ้าเราวางแผนแบ่งภาระบางส่วนให้รัฐบาลช่วยเหลือ  เกิดรัฐบาลไม่พร้อม  ชีวิตมิต้องเคว้งคว้างไร้คนดูแลหรือ

          ขณะเดียวกัน  ก็ไม่คาดหวังให้  ลูกหลานเลี้ยงดู  เนื่องจาก  สังคมกำลังเปลี่ยนไป  ในอดีตเราเคยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่  พี่น้องผูกพันพึ่งพากัน  เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกแพร่เข้ามา  วิถีชีวิต อาหารการกิน  เปลี่ยนไป  ลูกๆเมื่อแต่งงานมีครอบครัวจะแยกไปอยู่กันตามลำพัง  ในจังหวัดบ้าง ต่างจังหวัดบ้าง  กลับมาเยี่ยมพ่อแม่เฉพาะเทศกาล  ปีละ  2-3 ครั้ง แต่ละคนมีภาระรัดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ การจุนเจือช่วยเหลือกันก็น้อยลง การคาดหวังให้ลูกหลานเลี้ยงดูจึงมีความเสี่ยง ทำไมไม่เก็บเงินของเราเองละ ถ้าทำได้

          กลับมาที่เรื่องค่าครองชีพ ในภาวะดอกเบี้ยต่ำอัตราเงินเฟ้อมักจะต่ำไปด้วย โดยทั่วไปอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ  2-3% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ประมาณ 2% 

          ถ้าภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น    เชื่อว่า  อัตราเงินเฟ้อคงอยู่ประมาณ  2-3 % ต่อปี   ยี่สิบปีข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อคงเพิ่มขึ้นประมาณ 100% จากฐานปัจจุบัน นั่นคือ ค่าครองชีพจะเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน

          ถึงตอนนั้น  เราลองมาคำนวณดูว่า  ค่าใช้จ่ายจะเป็นเท่าไร  ตัวเลขจะอยู่บนสมมติฐานที่ว่า  ภาระหนี้สินต่างๆได้ชำระหมดแล้ว  ไม่ว่า  จะเป็นค่าผ่อนบ้าน , ผ่อนรถ หรือทรัพย์สินอื่นๆ   ถ้ายังมีหลักทรัพย์ที่ติดจำนองยังต้องผ่อนชำระอยู่ เช่นที่ดิน ควรจะขายทิ้งไป เพราะอายุปูนนั้นแล้ว คุณยังจะสะสมหลักทรัพย์ให้ใครอีก ลูกๆก็โตหมดแล้ว    ยกเว้นถ้าลูกยังเรียนไม่จบ    ภาระการส่งเสียลูก   คงทิ้งไม่ได้     เพราะเป็นหน้าที่ทางศีลธรรม    และเขาเป็นหลักทรัพย์ทางจิตใจที่ทรงคุณค่าที่สุดของคุณ

          เมื่อไม่มีหนี้สิน  มีแต่ค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่าย  เช่น  อาหาร  3 มื้อ , ค่าน้ำ , ค่าไฟ , ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ ขณะเดียวกัน  เราทุกคนคงอยากดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี  และสถานภาพเดิมๆของชนชั้นกลางเอาไว้  แต่ไม่ถึงกับฟู่ฟ่าหรูหรา  อย่างน้อยเรายังต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว , มีเครื่องปรับอากาศที่ห้องนอน , ยังคงติดตั้งเคเบิลทีวีไว้ดู ,ยุคนั้นอาจต้องใช้คอมพิวเตอร์ , อินเตอร์เน็ทไว้สั่งอาหาร  และแบ่งเงินทำบุญ เข้าวัดเข้าวาบ้างตามสมควร

         ถ้าเป็นอย่างนั้นต้องมี ค่าน้ำมันรถ, ค่าซ่อมบำรุง , ค่าเบี้ยประกันรถ  , ค่าเช่ารายเดือน  หากรวมทั้งหมดแล้ว   ใช้จ่ายอย่างประหยัด  ค่าใช้จ่ายต้องมีอย่างน้อยเดือนละ  20,000  บาทต่อคน  ถ้าสามีภรรยาอยู่ด้วยกัน  ค่าใช้จ่ายรวมอาจลดเป็น  30,000  บาทสำหรับ  2 คน  เนื่องจาก  ค่าใช้จ่ายบางอย่างใช้ร่วมกันได้  เช่น  ค่าไฟฟ้า ค่าเคเบิลทีวี และการใช้รถยนต์

         ค่าใช้จ่ายที่  20,000  บาท/ เดือน / คน  เป็นค่าใช้จ่ายมาตรฐานสำหรับคนทั่วๆไป  แต่ถ้าใครต้องการมีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้นไปอีก  เช่น  ต้องการเป็นสมาชิกสปอร์ตคลับ  มีการสังสรรกับเพื่อนทุกสัปดาห์  เราก็ต้องคิดค่าใช้จ่ายเผื่อขึ้นไปอีก

         เงิน  20,000 บาทเป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือน ค่าใช้จ่ายต่อปีจึงเป็น 20,000 X 12=240,000 บาท เผื่อเหลือเผื่อขาดให้คิดเป็น 250,000 บาท

        เมื่อเกษียณอายุ  เราไม่ได้ทำงานแล้ว  รายได้หลักจึงมาจากดอกเบี้ยและเงินปันผล      ผลตอบแทนการลงทุนที่น่าพอใจ  และยอมรับได้ทั่วโลก  อยู่ที่ 5% ต่อปี

         ถ้าเราลงทุน  100  บาท  ได้ผลตอบแทนสุทธิ  5  บาท  อัตราส่วน  20  ต่อ  1   หากต้องการผลตอบแทนที่  250,000  บาทต่อปี  ต้องมีเงินต้น  =  250,000 X  20  =  5,000,000  บาท 

         ดังนั้นถ้าคุณต้องการใช้ชีวิตที่สุขสบาย  และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเมื่อตอนเกษียณอายุ  คุณต้องมีเงินเก็บ  5 ล้านบาท  คำถามคือ  คุณได้เตรียมเงินก้อนนี้ไว้แล้วหรือยัง

         อนึ่ง  สำหรับคนทำงานกินเงินเดือน  นักวางแผนทางการเงิน  มักจะแนะนำให้คุณประมาณการเงินเดือนสุดท้าย  ณ  วันที่จะเกษียณอายุ   แล้วหารด้วยสอง   ตัวเลขนั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยที่คุณต้องใช้หลังเกษียณ

         สมมติยี่สิบปีข้างหน้า  คุณมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการแผนก   เงินเดือน  100,000  บาท  รายจ่ายหลังเกษียณจะตกเดือนละ  50,000  บาท  หรือ  ปีละ  600,000  บาท  ดังนั้น  คุณต้องมีเงินต้น  12  ล้านบาท

        ฟังดูเป็นเงินมากโขทีเดียว  จนบางคนรู้สึกว่าจะเกินความจริงไปหน่อย   แต่ถ้าใครคิดว่าตอนแก่จะใช้ชีวิตสบายหรูหราหน่อย  ก็ต้องมั่นใจว่า  เราจะต้องเป็นนักเก็บเงินตัวยงตั้งแต่ตอนนี้

         ส่วนคนที่สงสัยว่า  เงินต้นไม่ได้ถูกใช้เลย  แล้วจะเหลือไว้ให้ใคร  ที่ผู้เขียนไม่กล่าวถึงการใช้เงินต้น  เพราะเป็นการยากที่จะคาดเดาว่า  เราจะมีอายุขัยเท่าไร  ถึงแม้จะรู้ว่าอายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่  74 ปี  ถ้าเราคิดว่าเราจะมีอายุหลังเกษียณอีก  14 ปี  แล้วทยอยใช้เงินต้น  เกิดผ่านไป  14 ปี  ยังไม่เสียชีวิต  จากนั้นจะให้ใครเลี้ยงดู  (โดยสถิติของคนไทยหากมีอายุอยู่ถึง 60 ปี จะมีโอกาสอยู่ได้อีก 20 ปี หรืออยู่ถึงอายุ 80 ปี)

         ดังนั้น  ถ้าคิดในแง่อนุรักษ์นิยม   ให้ใช้เฉพาะดอกผล  ส่วนเงินต้นไว้ใช้กรณีจำเป็นจริงๆ  เช่น  กรณีเจ็บป่วย  ซึ่งนับเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดในบั้นปลายของชีวิต  หรือจะกระจายความเสี่ยง    โดยการเลือกทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิต   ซึ่งปัจจุบันนี้สามารถให้คุ้มครองถึงอายุ  70 ปีแล้ว    และคาดว่าในอนาคตคงจะมีรูปแบบที่คุ้มครองสุขภาพตลอดชีวิตแน่นอน

         เมื่อเรามีเป้าหมายแล้วว่าจะเกษียณที่อายุเท่าไร  และต้องมียอดเงินเก็บเท่าไร  ขั้นตอนต่อมา  ก็คือการเก็บเงิน  เรื่องการหาเงิน  ผู้เขียนคงไม่อาจเอื้อมที่จะแนะนำ  เพราะพวกเราแต่ละท่านล้วนมีความสามารถเฉพาะตัวในการทำงานหารายได้อยู่แล้ว  ปัญหาคือ  ต้องเก็บเดือนละเท่าไร

         แนวคิดเรื่องการเก็บเงินมีอยู่  2-3  แนว  แนวทางคิดแรกในแง่อนุรักษ์นิยมสุดๆ  คือ  มองว่าจากนี้ไป ประเทศไทยคงยังจมปลักอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอีกเป็น  10 ปี  ฉะนั้นไม่ว่าจะลงทุนอะไร  ผลตอบแทนที่ได้จะน้อยมาก  การเก็บเงินจึงไม่ควรไปคำนึงถึงผลตอบแทนที่ได้รับ  ให้ยึดที่เงินต้นอย่างเดียวเป็นพอ  ถ้าต้องการยอดเงินที่  5  ล้านบาท  มีเวลาเก็บ  20 ปี  ก็ต้องเก็บปีละ  250,000  หรือเดือนละ  20,830  บาท  หากคุณเริ่มเก็บเงินที่อายุ  40 ปี  ต้องการเกษียณที่อายุ  60 ปี  คุณต้องเริ่มเก็บเดือนละ  20,830  บาททุกเดือน  โดยไม่หยุดไป  20 ปี  คุณก็จะมีเงินเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณ

         แนวคิดที่สอง  ถูกปรับให้เข้ากับความเป็นจริงว่า  ในทางปฎิบัติ  การลงทุนย่อมได้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยทบต้นไปด้วย  ยิ่งเป็นการลงทุนระยะยาวเป็น  20-30 ปี  ดอกผลที่ได้จะยิ่งสูง  จึงลดภาระเงินต้นไปได้เยอะ  นักวางแผนทางการเงินได้คำนวณว่า   หากมีเวลาเก็บเงิน  20 ปี  และผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่  5%  คุณจะต้องเก็บเงินเพียงเดือนละ  12,500  บาท   หรือปีละ  150,000  บาทเท่านั้น  แล้วดอกผลที่งอกเงยจะพอกพูนเป็นเงิน  5  ล้านบาท  ณ  สิ้นปีที่  20   ตัวเลขนี้ค่อยทำให้มีกำลังใจเก็บกันหน่อย  อย่างไรก็ตามคุณยังต้องบังคับตัวเองให้เก็บเงินถึง  20 ปี  ถึงจะบรรลุสิ่งที่ต้องการ

         แนวคิดสุดท้าย   ไม่ได้ระบุยอดเงินต้นที่ต้องการ    แต่ให้แปรเปลี่ยนไปตามฐานเงินเดือนของแต่ละคนแล้วสรุปออกมาเป็นเงินบำนาญต่อเดือนที่คุณจะได้ใช้ยามเกษียณไปจนเสียชีวิต    บนสมมติฐานว่าเงินเดือนเพิ่มปีละ 5%  ผลตอบแทนการออมอยู่ที่  7%  เกษียณที่อายุ  60 ปี  โดยหลังอายุ 60 ปี  เงินออมของเราจะเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ   ผลตอบแทนจะได้เพียง 5 %  ต่อปี  และเรายังมีชีวิตอยู่ได้อีก 20  ปี

    แผนการเก็บออมต่อเดือน ณ อายุเริ่มต้นที่ต่างกัน

เริ่มเก็บเงินที่อายุ

สัดส่วนที่ต้องเก็บออมในแต่ละเดือนไปจนถึงอายุ 60 ปี

รายได้ที่จะได้รับเมื่อเกษียณเทียบกับเงินเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ

30

40

50

55

12%

21%

45%

91%

40%

40%

40%

40%

หมายเหตุ  แนวคิดนี้  เป็นแบบทยอยใช้เงินต้นและดอกเบี้ย  ตัวเงินต้นจะหมดในปีที่ 20  ของการเกษียณอายุ ( เข้าลักษณะลดต้นลดดอก )

          สังเกตุว่า  ยิ่งเราเริ่มต้นช้าเท่าไร  ภาระในการเก็บออมก็จะยิ่งทวีคูณ  และมีผู้คนจำนวนมากที่มีปัญหาในเรื่องการเก็บเงิน    ทั้งๆที่เขาก็รู้ซึ้งถึงความจำเป็นที่ต้องเก็บเป็นอย่างดี

        ขั้นตอนสุดท้าย  คือ  การจัดสรรเงินลงทุน  ตามที่ได้เกริ่นไว้แต่ต้นแล้วว่า  แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงและการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์  ทำให้กลไกของระบบการเงินเปลี่ยนไป   รูปแบบการออมเก่าๆเริ่มไม่เหมาะสม  ขณะที่รูปแบบการลงทุนใหม่ๆมีให้เลือกมากยิ่งขึ้น

แนวทางการจัดสัดส่วนพอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ 

ประเภทการลงทุน ผลตอบแทนที่คาด แบบอนุรักษ์นิยม แบบสายกลาง แบบชอบเสี่ยง
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/ประกันชีวิต/กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

5%

40%

30%

30%

เงินสด/เงินฝาก/ตั๋วแลกเงิน/บัตรฝากเงิน

3-4%

30%

20%

10%

พันธบัตร/หุ้นกู้/กองทุนรวมตราสารหนี้

5%

30%

20%

10%

หุ้น/กองทุนรวมหุ้น/ETF

+/- 20%

-

15%

30%

บ้านเช่า/หอพัก/อาคารพานิชย์ให้เช่า/อพาร์ตเมนท์

5-15%

-

15%

20%

รวม

5%

100%

100%

100%

          และเพื่อให้เราได้เข้าใจรูปแบบและข้อดีข้อเสียในการลงทุนแต่ละประเภท   ผู้เขียนจึงใคร่แจกแจง รายละเอียดให้ผู้อ่านได้เลือกลงทุนตามความชอบ  ความเหมาะสมของแต่ละคน
       

         1)กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ( รวมถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ )

ข้อดี

ข้อเสีย

- เก็บออมอย่างเป็นระบบ

- ได้รับเงินสมทบจากบริษัทอีกหนึ่งเท่าตัวทุกเดือน

- ผลตอบแทนจากการลงทุนได้รับการยกเว้นภาษี  หากสมาชิกทำงานจนเกษียณอายุ , พิการหรือเสียชีวิต

- เงินสะสมของพนักงานได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี  และ  ยกเว้นภาษีสูงถึงปีละ 300,000 บาท

- เงินกองทุนแยกจากเงินทุนของบริษัทนายจ้าง  จึงไม่สูญหายแม้บริษัทล้มละลายไป

- เป็นเงินก้อนใหญ่  จึงลงทุนได้หลากหลาย

- มีกฎหมายให้ความคุ้มครอง  มีข้อกำหนดการลงทุนที่เข้มงวด  และต้องมีบริษัทผู้เชี่ยวชาญการลงทุนเป็นผู้บริหารกองทุน

- ไม่มีสภาพคล่อง  หากมีความจำเป็นใช้เงิน   ต้อง  กู้เงิน   โดยใช้เงินสะสมเป็นตัวอ้างอิง  ซึ่งขึ้นกับนโยบายของแต่ละกองทุน  หรือ  ต้องลาออกจากกองทุน  ซึ่งต้องรับภาระภาษีของเงินทั้งจำนวน

- หากมีการย้ายงาน  หรือออกจากงาน  ต้องออกจากกองทุนเดิม  ทำให้การเก็บเงินขาดตอน  เว้นแต่จะได้งานใหม่ทันที  และไม่มีระยะทดลองงาน เพื่อให้สามารถโอนเงินเดิมเข้าร่วมในกองทุนของบริษัทใหม่ได้ทันที

 - เงินส่วนใหญ่ลงทุนในพันธบัตร  และหุ้นกู้  ดังนั้นผลตอบแทนการลงทุนอาจผันผวนตามภาวะดอกเบี้ยที่ขึ้นลงได้

2) ประกันชีวิต

ข้อดี

ข้อเสีย

- เก็บออมอย่างเป็นระบบ

- ได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอน  ตลอดสัญญา

- ได้รับการคุ้มครอง  เต็มวงเงินทันทีที่เก็บออม

- มีสวัสดิการต่างๆให้  เช่นการรักษาพยาบาล

เงินชดเชยชนิดต่างๆ

- ไม่เสียภาษีทั้งเงินปันผล  และ  เงินสินไหม

- ได้สิทธิลดหย่อนภาษีปีละ 50,000  บาท

- กฎหมายให้ความคุ้มครองสูง  มีข้อกำหนดการลงทุนที่เข้มงวด     หรือสิทธิในกรณีที่เสียชีวิต     เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์ยึดเงินสินไหมเกินกว่าเบี้ยประกัน  ที่จ่ายไป

- สภาพคล่องต่ำ  หากมีความจำเป็นใช้เงิน  ต้องกู้เงินจากกรมธรรม์  หรือ  เวนคืนกรมธรรม์  ซึ่งมักจะขาดทุน ( ถ้ายังไม่ถึงจุดคุ้มทุน )

- ผู้ลงทุนต้องมีอายุและสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ มาตรฐาน

- มีภาระฝากเบี้ยประกันทุกปี ตามสัญญา

- การเบิกสวัสดิการต่างๆ  มีเงื่อนไขและข้อกำหนดเฉพาะ  ผู้ลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อน

3) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

ข้อดี

ข้อเสีย

- คนทุกสาขาอาชีพมีสิทธิ์เข้าร่วมกองทุนได้

- สามารถลงทุนได้ไม่จำกัดหน่วยลงทุน

- สามารถโอนย้ายการลงทุนจากกองทุนรวมเพื่อการ

เลี้ยงชีพหนึ่งไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่นได้

- เงินลงทุนจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้  สูงถึง  300,000  บาทต่อปี

- ผลตอบแทนจากการลงทุนได้รับการยกเว้นภาษี  หากมีการลงทุนตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  และผู้ลงทุนมีอายุถึง  55  ปี

-  ต้องเพิ่มเงินลงทุนสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง

ไม่ต่ำกว่า  5,000  บาทต่อปี

- การลงทุนจะเป็นระยะยาวต่อเนื่อง  ไม่มีการจ่ายเงินปันผล  หรือ  ผลประโยชน์ใดๆระหว่างลงทุนจะจ่ายคืนแก่ผู้ลงทุนครั้งเดียว  เมื่อมีการไถ่ถอนหน่วยลงทุน

- หากไถ่ถอนก่อนผู้ลงทุนมีอายุ  55 ปี  จะต้องคืนภาษีที่ได้รับการลดหย่อนใน  5  ปีสุดท้ายและผลตอบแทนจากการลงทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้  ณ  ปีที่ไถ่ถอน

 - การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง  ขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆว่า  ลงทุนหลักทรัพย์ประเภทใด

4) เงินสด

 

ข้อดี

ข้อเสีย

- หยิบใช้ได้ตลอดเวลา

- ไม่กังวลเรื่องสถาบันการเงินล้ม

- ไม่มีภาระเก็บเงิน  จะเก็บเท่าไร  เมื่อไรก็ได้

- ยุ่งยากในการจัดเก็บ  เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม

- เงินไม่งอกเงย

- หากมีมากๆ ( มากกว่า  5  ล้านบาท )  เสี่ยงต่อการถูกเพ็งเล็งว่าฟอกเงิน

5) เงินฝาก (ออมทรัพย์/ประจำ)

ข้อดี

ข้อเสีย

- เบิกถอนสะดวก

- มั่นคง 

- ได้รับผลตอบแทนแน่นอน

- ใช้เป็นหลักทรัพย์  ค้ำประกันได้

- มีจำนวนเงินน้อยก็ฝากได้

-มีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง 

- เมื่อครบรอบการฝากเงิน  (ROLLOVER)ในอนาคต  รัฐมีแนวโน้มจะยกเลิกการค้ำประกันเงินฝาก

- ผลตอบแทนต่ำ

- เสียภาษีดอกเบี้ย  15%  (ฝากประจำ)

6) ตั๋วแลกเงิน , บัตรเงินฝาก ( B/E , NCD )

ข้อดี

ข้อเสีย

- ดอกเบี้ยสูง

- มั่นคงเนื่องจากธนาคารเป็นผู้ออกหรือค้ำประกัน

- สภาพคล่องต่ำ  ต้องฝาก  1 ปีขึ้นไป

- หากต้องการใช้เงินก่อนต้องขายลดราคา

- เสียภาษีดอกเบี้ย  15%

7) พันธบัตร

ข้อดี

ข้อเสีย

- มั่นคง  เนื่องจากรัฐเป็นผู้ออก  ( ถึงแม้จะกังวลใจ

บ้างว่า  รัฐบาลมีภาระหนี้สาธารณะสูงเหลือเกิน

แต่  รัฐบาลก็ไม่ได้หนีหายตายจากไปไหนแน่นอน )

- โดยทั่วไปดอกเบี้ยจะสูงกว่าธนาคาร  และรับรอง

ดอกเบี้ยในระยะเวลาที่ยาวกว่า

-    ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้

- สภาพคล่องต่ำ 

- ถ้าต้องการขายก่อนครบกำหนดสัญญา  จะมี

ความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของราคาที่เกิดจาก

การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย  เพราะถ้าหาก

อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเพิ่มขึ้น  พันธบัตรที่ออกในช่วง

ก่อนหน้าราคาจะลดลง

- ตลาดพันธบัตรไม่ได้เป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพ  ถ้าต้องการใช้เงินเร็วๆ  ก่อนครบกำหนด  จะขายไม่ได้ราคา

- ใช้เงินลงทุนมาก

- เสียภาษีดอกเบี้ย  15%

8) หุ้นกู้

ข้อดี

ข้อเสีย

- ดอกเบี้ยสูง

- รับรองอัตราดอกเบี้ยที่สูง  หากเป็นหุ้นกู้แบบกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่

- สภาพคล่องต่ำ

- เป็นการกู้ยืมที่ไม่มีหลักประกัน   จึงมีความเสี่ยงในเรื่องการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย

- มีความผันผวนของราคา  หากต้องการขายออก

ก่อนครบกำหนด

- ตลาดหุ้นกู้  ยิ่งไร้ประสิทธิภาพ  โดยเฉพาะของ    

บริษัทที่มีพื้นฐานอ่อน  จะไม่ค่อยมีการซื้อขาย

ทำให้ขายไม่ได้ราคา  หรือ  ไม่มีผู้รับซื้อ

- เสียภาษีดอกเบี้ย 15 %

- ใช้เงินลงทุนมาก

9) กองทุนตราสารหนี้

ข้อดี

ข้อเสีย

- บริหารผ่านมืออาชีพ

- มีเงินน้อยก็สามารถลงทุนได้

- ไม่เสียภาษีหากขายหน่วยลงทุนแล้วได้กำไร ( CAPITAL  GAIN )

- ซื้อขายหน่วยลงทุนได้ตลอดเวลา  ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร  หรือ  ตู้ ATM  

- มีความเสี่ยงในเรื่องของราคาที่ผันผวนจากการ

เปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ย

- ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบริหาร  ค่าโฆษณา  แต่มักต่ำกว่าการเสียภาษี  ถ้าลงทุนด้วยตัวเอง

- เงินปันผลต้องจ่ายภาษี  10%

 10) หุ้นสามัญ

ข้อดี

ข้อเสีย

- ผลตอบแทนสูงมาก  หากลงทุนได้ถูกจังหวะ  ทั้งในส่วนของกำไรจากราคาที่เพิ่มขึ้น  และเงินปันผล

- กำไรจากราคาซื้อขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษี

- มีสินค้าให้เลือกลงทุนมากมาย  ทั้งประเภทธุรกิจ,ขนาดราคาหุ้น  หรือ   ลักษณะการเหวี่ยงตัวของราคาหุ้น

- มีสภาพคล่อง  ซื้อขายได้ทุกวันทำการ

-  เสี่ยงสูง  อาจไม่ได้รับเงินต้นคืน  หรือ  ขาดทุนจำนวนมาก

- จะได้รับเงินปันผล  ก็ต่อเมื่อบริษัทมีผลกำไร

- ต้องติดตามข่าวสารตลอดเวลา

- ราคาหุ้นไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียว

แต่ขึ้นกับภาวะตลาดรวม  และ  จิตวิทยาฝูงชนด้วย

- เงินปันผลต้องเสียภาษี  10%  หัก  ณ  ที่จ่าย  แต่สามารถนำมาเครดิตภาษีคืนได้บางส่วน  เวลาเสียภาษีบุคคลธรรมดา


11) กองทันรวมตารสารทุน ( หุ้น/วอร์แร้นท์ )

ข้อดี

ข้อเสีย

- ใช้เงินจำนวนน้อย  ก็ลงทุนได้

-ได้ผลตอบแทนสูง  หากภาวะตลาดหุ้นดี

- บริหารโดยมืออาชีพ  มีการกระจายลงทุนในหุ้น

พื้นฐาน

-ไม่เสียภาษี  จากกำไรของราคาหน่วยลงทุน

- ซื้อขายหน่วยลงทุนได้ตลอดเวลา

- มีความเสี่ยง  เนื่องจากลงทุนในหุ้นสามัญเป็นหลัก

- เงินปันผลที่ได้รับต้องถูกหักภาษี  ณ  ที่จ่าย  10%

- ผลตอบแทนจากการลงทุนต้องหักค่าใช้จ่าย  ในการบริหารก่อน

- เนื่องจากเน้นลงทุนในหุ้นพื้นฐาน  ดังนั้นผลตอบแทนจึงขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก

12) บ้านเช่า/หอพัก/แฟลต/อาคารพานิชย์ให้เช่า/อพาร์ตเมนต์

ข้อดี

ข้อเสีย

- มีรายได้เข้ามาทุกเดือน  และราคาปรับขึ้นได้ในอนาคต

- ราคาอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสสูงขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะการซื้อในช่วงนี้ที่ยังมีราคาต่ำ

- เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้

- ลงทุนสูง  หรือ  มีภาระผ่อนนาน

- สภาพคล่องต่ำ  ต้องรอจังหวะขาย  หากต้องการเงินต้นคืน

- มีความเสี่ยง  เรื่องหาคนมาเช่า

- มีภาระในการบริหาร  ตามเก็บค่าเช่า  หรือ  ซ่อมแซม  บำรุงรักษา


 หมายเหตุ  -   อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ  ต้องมั่นใจว่าอัตราการเข้าพักหรือเช่าต้อง  80%  ขึ้นไป

                -    การลงทุนต้องซื้อด้วยเงินสด  หากใช้เงินดาวน์    ค่าเช่าที่ได้รับต้องใกล้เคียงกับเงินผ่อนในแต่ละเดือน  หรือมากกว่า

 13) ทองคำ

ข้อดี

ข้อเสีย

 - ซื้อขายง่าย

- เป็นหลักทรัพย์ที่ยอมรับกันทั่วโลก  ดังนั้นในกรณีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก  ทองคำจะเป็นแหล่งพักเงิน  ทำราคาขยับสูงขึ้นได้

- ในช่วงอัตราเงินเฟ้อสูง  เช่น ภาวะสงคราม  จะมีราคาสูง

- มีแนวโน้มด้อยค่าลงเรื่อยๆ  เนื่องจาก  ประเทศต่างๆทั่วโลก      ลดความนิยมในการใช้ทองคำ  เป็นทุนสำรองของประเทศ

- เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม

      เมื่อท่านได้ลงมือหว่านไถแล้ว  จากนั้นต้องคอยติดตามดูแลเป็นระยะๆ   รอคอยผลให้งอกเงยจนเมื่อมันเป็นไม้ผลยืนต้นใหญ่แล้ว  ท่านก็สามารถเก็บเกี่ยวผลไปได้ตลอดชีวิต

        ท่านที่รัก    ข้อมูลจากธุรกิจประกันชีวิต    บอกเราว่า    ประชากรไทยที่มีอยู่  62  ล้านคน มีคนที่อยู่ในวัยเกษียณอายุ   ( อายุ  60 ปีขึ้นไป )    8  ล้านคน    ในจำนวนนี้มีเพียงไม่ถึง  10%  หรือ  800,000  คน     ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ในวัยเกษียณแบบค่อนข้างสบาย  อยากซื้อ  อยากทานอะไร  มีเงินให้ซื้อ ให้ใช้  ขณะที่คนที่เหลือ  มีชีวิตความเป็นอยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน  หลายคนยังต้องทำงานเพื่อยังชีพ  ขณะที่หลายคนต้องอาศัยเงินจุนเจือจากรัฐบาล     ถามว่า  ถ้าเราเลือกได้  อยากเป็นคนกลุ่มไหน

        โปรดตัดสินใจ  ในขณะที่ท่านยังมีโอกาสเลือก  เพราะถ้ารอให้ถึงอายุ  60 ปี  มันก็สายไปเสียแล้ว




บทความน่าสน

Domain names for sale article
ขุมทรัพย์ในกรมธรรม์
ทองคำ ฤาจะหมดมนต์ขลัง
Dollar Carry Trade แผลงฤทธิ์
กรมธรรม์บำนาญ เรื่องใกล้ตัวที่คุณควรรู้ article
ฝรั่งทิ้งหุ้นกว่า 5 หมื่นล้าน ทำไมหุ้นไทยถึงไม่ลง(มาก) article
ทำไม ทองยังคงทำสถิติราคาสูงสุดใหม่ article
ทำไม หุ้นจึงพุ่ง สวนทางม็อบ article
เฟดขึ้นดอกเบี้ย มั่นใจพ้นจุดต่ำสุด article
5 ศตวรรษของฟองสบู่โลก
บริจาคอย่างไร หักภาษีได้ 2 เท่า
ทำไม ราคาทองคำจึงพุ่งไม่หยุด
MACD สาเหตุที่แท้จริงในตลาดหุ้น
เงินรองรัง เท่าไรถึงพอ
นักลงทุนทิ้งเงินดอลลาร์ มุ่งลงทุนสินทรัพย์อื่น
เงินที่หล่นหาย
สมาคมตัวแทนเตรียมจัดงานสัมมนาระดับโลก
5 คำแนะนำในการซื้อบ้านที่ถูกยึด
พันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ พุ่งแตะ 3.71%
วิกฤตการเงินระลอกสอง article
AIG ถึงคราวต้องล้ม ?
เงินสิบบาท
ช่วยด้วย ฉันซื้อประกันไว้กับ AIG
ช่วยใช้เงินหน่อย
เตือนรัฐรับวิกฤติผู้สูงอายุ
ข่าวดีและข่าวร้ายจากเฟด
CDS ดินระเบิดวิกฤติปี 2008 article
สัญญาเพิ่มเติมในประกันชีวิต หักภาษีไม่ได้แล้ว
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าฟองสบู่อเมริกาแตก
วิธีเป็นเศรษฐีเงินล้าน article
หลักทรัพย์ที่ควรร้จัก
สปส.ปรับเพิ่มเงินบำนาญชราภาพ article
AIG มาถึงวันนี้ได้อย่างไร



Copyright © 2010 All Rights Reserved.