ReadyPlanet.com
dot dot
dot
วางแผนการเงิน
dot
bulletทำไมต้องวางแผนการเงิน
dot
วางแผนเกษียณอายุ
dot
bulletวางแผนเกษียณอย่างง่าย
dot
วางแผนภาษีอากร
dot
bulletทำไมต้องวางแผนภาษี
bulletเทคนิควางแผนภาษีส่วนบุคคล
bulletเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี
bulletค่าใช้จ่ายของแต่ละอาชีพ
bulletสิทธิหักลดหย่อนภาษี
bulletวิธีคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา
dot
วางแผนการลงทุน
dot
bulletข้อคิดก่อนลงทุน
bulletการจัดพอร์ตลงทุน
dot
วางแผนการประกัน
dot
bulletหลักพื้นฐานการประกันภัย
bulletประกันชีวิตเท่าไรถึงพอ
dot
Newsletter

dot




คำถามยอดนิยม

        1. การวางแผนการเงิน คืออะไร  ช่วยอธิบายให้เข้าใจง่ายๆหน่อย
 
        การวางแผนการเงินคือ  การวางแผนเกี่ยวกับเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ  ซึ่งเป้าหมายมีได้ตั้งแต่เป้าหมายระยะสั้น เช่น  การควบคุมค่าใช้จ่าย  การลดหนี้  การวางแผนภาษี  เป้าหมายระยะกลาง เช่น การเก็บเงินซื้อรถ  การเตรียมเงินแต่งงาน  การซื้อประกันชีวิต  ไปจนถึงเป้าหมายระยะยาว  ซึ่งได้แก่การเตรียมเงินเกษียณอายุ  การเตรียมทุนการศึกษาของลูก  หรือการเตรียมพินัยกรรม  เพื่อให้มั่นใจว่ามรดกจะตกทอดให้กับคนที่เหมาะสม
         ทั้งนี้  ขึ้นกับว่าเราจะให้ความสำคัญเรื่องอะไร  เราก็วางแผนเตรียมการให้พร้อมในเรื่องนั้น  หรือจะวางแผนหลายๆเรื่องไปพร้อมกันเลยก็ได้  ถ้าเรามั่นใจว่าเราทำได้

         2. การวางแผนการเงิน  ส่วนใหญ่มีหลักการว่าอย่างไร
 
        การวางแผนการเงินเปรียบไปก็เหมือนการเดินทาง  ที่เรามักจะมีจุดหมายปลายทางแล้วว่าเราจะไปไหน  จะมีแวะเที่ยวระหว่างทางที่ไหนบ้าง  ไม่ว่าเราจะมีเป้าหมายอย่างไร  เราก็ต้องเริ่มจากการกำหนดให้ได้เสียก่อนว่าตอนนี้เราอยู่ที่ตำแหน่งไหน  หรือเดินทางถึงไหนแล้ว  ระยะทางห่างจากจุดหมายปลายทางเท่าไร  ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากน้อยเพียงไร  เราเองมีกรอบของเวลามาควบคุมไหม 
         จากนั้นจึงมาแสวงหาทางเลือกที่ดีที่สุด  ว่าจะใช้เส้นทางใด  ใช้พาหนะอะไร  ด้วยความเร็วเท่าไร  ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงความปลอดภัย  มีแผนสำรองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น  และต้องมีการปรับแผนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในอนาคตเป็นระยะๆ

         ฉันใดฉันนั้น  การวางแผนการเงินต้องเริ่มจาก  การกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่า  จะวางแผนเรื่องอะไร  มีกี่เป้าหมาย  ต้องใช้จำนวนเงินเท่าไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น  จากนั้นต้องคำนวณให้ได้ว่า  ตอนนี้  สถานะการเงินของเราอยู่ที่ใด  โดยการหักลบจำนวนสินทรัพย์กับหนี้สินเพื่อดูยอดเงินสะสมสุทธิของเรา  นำยอดเงินสะสมที่มีอยู่  ไปหักออกจากเป้าหมายที่ตั้งไว้  เราก็จะได้ยอดเงินที่ยังขาดอยู่               

         เมื่อรู้ยอดเงินที่ขาด  เราสามารถคำนวณได้ว่า  เราควรเก็บเงินเดือนละเท่าไร  ปีละเท่าไร  เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  และแน่นอนว่า  หากอยากให้ถึงเป้าหมายเร็วขึ้น  เราต้องไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  วางแผนประหยัดภาษี และวางแผนลงทุนให้เงินงอกเงยเร็วขึ้น  แต่ในเวลาเดียวกัน  ต้องมีการสำรองแผนกันความเสี่ยงโดยการกระจายการลงทุน  และทำประกันภัยให้ครอบคลุมความเสี่ยงหลักๆ  จากนั้นต้องคอยปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในอนาคต

         3. ทำไม การวางแผนเกษียณอายุจึงใช้ยอด “รายจ่าย” ในการคำนวณมากกว่า “รายรับ”
         ความจริงการวางแผนเกษียณอายุ  เราใช้ทั้งยอด “รายรับ”และ “รายจ่าย” มาคำนวณ  แต่ในหลายๆกรณีเรามักใช้ “รายจ่าย” มากกว่า    เพราะว่า การวางแผนเกษียณอายุ  เป็นการวางแผนเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหลังเกษียณ  ( ตอนนั้นเราน่าจะหยุดทำงานไปแล้ว )  จึงต้องคำนวณหาให้ได้ว่า ตอนเกษียณอายุต้องมีเงินเท่าไรจึงจะพอ “ใช้จ่าย”

         การคำนวณเพื่อหาว่ายามเกษียณต้องมีเงินเก็บเท่าไรนั้น  ต้องเริ่มจากการหาให้ได้ก่อนว่า  หลังเกษียณเราต้องใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละเท่าไร   ซึ่งวิธีคาดการณ์ที่ดีที่สุด  คือ  ดูว่าปัจจุบัน  เราใช้จ่ายอยู่เดือนละเท่าไร   ปีละเท่าไร  แล้วนำยอดที่หาได้  มาปรับปรุงให้สอดคล้องกับชีวิตหลังเกษียณ
        เนื่องจากตอนเกษียณ  ค่าใช้จ่ายบางรายการอาจจะสูงขึ้น  เช่น ค่าตรวจเช็คสุขภาพ  ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ  ค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวหรือทำบุญ  ขณะที่ค่าใช้จ่ายบางอย่างอาจจะหายไปหรือลดลง  เช่น  ค่าเล่าเรียนลูก  เงินภาษี  หรือ ค่าแต่งตัว   แล้วจึงนำยอดที่ปรับปรุงแล้วไปปรับเป็นมูลค่าในอนาคตอีกที

        เป็นอันว่าเราพอจะรู้ว่า  อนาคตต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเดือนละเท่าไร  ปีละเท่าไร  ขั้นตอนต่อไป  คือคำนวณหายอด “เงินรองรัง” ที่ต้องมี ณ วันเกษียณ  ถึงตอนนี้แหละที่ต้องกลับมาใช้ยอด “รายรับ” และยอด “รายจ่าย”มาหักกลบกันว่า  แต่ละเดือน แต่ละปี  เราเก็บเงินได้เท่าไร  สามารถลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้นได้หรือไม่    หากไม่ได้  ต้องแก้ไขอย่างไร  เพิ่มรายรับ  ลดรายจ่าย  หรือปรับลดเป้าหมายลง
       นอกจากนี้  ยังมีอีก 2 รายการหลักๆ  ที่เราใช้ยอด “รายจ่าย” มาเป็นหลักในการคำนวณ  คือ 

       หนึ่ง  เงินสำรองฉุกเฉิน 6 เดือน  ซึ่งส่วนใหญ่นักวิชาการจะแนะให้กันเงินสดหรือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องใกล้เคียงเงินสด เก็บสำรองไว้ 3-6 เดือน  เผื่อเกิดตกงานหรืออุบัติเหตุฉุกเฉิน  จะได้นำเงินส่วนนี้มาใช้  ที่ต้องใช้เผื่อไว้ถึง 6 เดือน  เพราะว่า  บางคนกว่าจะหางานใหม่ได้  อาจต้องใช้เวลา 5-6 เดือน  ระหว่างนี้  ครอบครัวยังต้องใช้จ่าย  เราจึงต้องมีเงินสำรองตรงนี้ไว้ให้พอใช้  สูงถึง 6 เดือนของค่าใช้จ่าย  แต่ถ้าใครคิดว่างานของตนมีสวัสดิการดี  มีความมั่นคงสูง  อาจจะสำรองไว้เพียง 3 เดือนก็ได้

        สอง  วงเงินประกันชีวิตที่ต้องมี  มีสูตรในการคำนวณที่นิยมใช้  และได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ
        ทุนประกัน = ภาระ – สินทรัพย์ที่มีอยู่  

        หรือ
       วงเงินประกันชีวิตที่ต้องทำเพิ่ม = รายจ่ายของครอบครัว + หนี้สิน+ทุนการศึกษาลูก + ค่าทำศพ - วงเงินประกันชีวิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน - สินทรัพย์สภาพคล่องสูง - เงินกองทุนจากบริษัทนายจ้าง
       เหตุที่เราใช้รายจ่าย  เนื่องจากว่า  วงเงินนี้เป็นวงเงินที่เราคำนวณไว้รองรับในกรณีที่เราเกิดจากไปก่อนเวลาอันควร  ครอบครัวเราจะได้มีเงินพอใช้ในเรื่องต่างๆ  เสมือนว่าเรายังมีชีวิตอยู่
       ดังนั้น  ดูเหมือนว่า  “รายรับ” จะเป็นตัวเอกในตอนเก็บเงิน    แต่เมื่อเกษียณแล้ว  “รายจ่าย”จะมีบทบาทในการกำหนดเรื่องต่างๆมากกว่าครับ

        4. คำว่า “อิสระทางการเงิน” หมายความว่าอย่างไร
        อิสระทางการเงิน คือ ภาวะที่เราสามารถใช้ชีวิตได้ตามที่ใจปรารถนา  โดยไม่จำเป็นต้องทำงาน  นั่นคือ  เราต้องมีเงินเก็บที่มากพอที่จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ  เลือกทำงานที่เราชอบ  โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากการทำงานเพื่อการยังชีพ
        ขณะที่นักการเงินบางท่านได้ให้นิยามว่า  คือภาวะที่เราพร้อมด้วยสิ่งต่อไปนี้
        1. ไม่เป็นภาระของใคร  ยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเอง
        2. ไม่เป็นหนี้ใคร  ไม่มีสินเชื่อคงค้าง
        3. ไม่จำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากการทำงาน  เลือกทำงานที่ชอบได้เอง
        เงินเก็บที่มากพอนี้  อาจเก็บในรูปเงินฝากธนาคาร พันธบัตร หรือสินทรัพย์ชนิดต่างๆ  ที่เราสามารถทยอยเบิกมาใช้ได้ตลอดชีวิต  หรืออาจงอกเงยมาให้ใช้ได้อย่างสม่ำเสมอในรูปของดอกเบี้ย  เงินปันผล หรือค่าเช่า

        5. สินทรัพย์ต่างจากคำว่าทรัพย์สินอย่างไร
        ทรัพย์สิน ( property ) คือวัตถุทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง  ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้  เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นวัตถุที่มีรูปร่าง  ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เป็นวัตถุไม่มีรูปร่าง (ตามพจนานุกรม พ.ศ. 2542 )  ขณะที่สินทรัพย์ ( asset ) คือ ทรัพย์สินรวมทั้งหนี้ที่พึงเรียกร้องเอาได้  
        แสดงว่า สินทรัพย์ กินความกว้างกว่า  เพราะได้รวมถึงสิทธิ์ในการเรียกร้องหนี้หรือรายได้ในอนาคตเข้ามาด้วย  เช่น ลูกหนี้การค้า  เครดิตภาษี  คำว่า สินทรัพย์ มักใช้สื่อความหมายในทางบัญชีและการเงิน  เพื่อแสดงสิทธิและทรัพยากรที่เจ้าของมี  ซึ่งสามารถแสดงค่าเป็นตัวเงินได้และให้ประโยชน์ในอนาคตได้ 

         6. ที่ปรึกษาการเงิน ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่าอะไรกันแน่
    
    ชื่อเรียก “ที่ปรึกษาการเงิน” ในภาษาอังกฤษมีอยู่หลายคำเช่น  Financial Advisor , Financial Planner , Financial Consultant หรือ Financial Practitioner  ทุกคำมีความหมายใกล้เคียงกัน  คือเป็นที่ปรึกษา  คอยให้คำปรึกษาเรื่องการบริหารเงิน  การลงทุน  การทำประกัน  การวางแผนภาษี  การวางแผนการเกษียณ  รวมถึงการวางแผนมรดก 
        ในบางครั้ง  ยังมีการใช้ชื่อเรียกที่เฉพาะเจาะจงลงไป ตามตำแหน่งหน้าที่ที่ทำ เช่น Tax Planner , Mortgage Advisor , Investment Counselor , Senior Specialist , Annuity Advisor , Estate Planner , Employee Benefit Specialist หรือแม้กระทั่ง Divorce Financial Analyst  ทั้งหมดล้วนถือว่าเป็นที่ปรึกษาการเงินทั้งสิ้น  เพียงแต่ใครจะเชี่ยวชาญทางด้านใดมากกว่ากัน
        แต่ชื่อเรียกที่เป็นคำสามัญที่ใช้กันทั่วไป  และนิยมใช้กันมากที่สุดทั่วโลก  คือคำว่า Financial Advisor 

        เช่นเดียวกับคำว่า “แพทย์” มีคำเรียกได้หลายอย่าง เช่น หมอ , ผู้รักษา , ผู้ประกอบโรคศิลป์ , ผู้บำบัด  และยังมีชื่อเรียกที่เฉพาะเจาะจงลงไปตามหน้าที่ที่ปฏิบัติ เช่น ศัลยแพทย์ , วิสัญญีแพทย์ , อายุรแพทย์  หรือ สูตินารีแพทย์
        แต่คำเรียกที่เป็นคำสามัญที่ใช้กันทั่วไป  คือคำว่า “แพทย์”
        ส่วนคำว่า Financial Adviser ก็มีใช้เหมือนกัน  แต่ไม่แพร่หลายเท่า คำว่า Financial Advisor ที่เป็นคำอเมริกัน  ซึ่งใครๆก็รู้ว่าอเมริกาเป็นผู้นำโลก ผู้นำทางการเงิน  ทุกคนจึงให้เกียรติและใช้ตามๆกันมา

        7. Wealth management ต่างกับคำว่า Financial planning อย่างไร
    
    Financial planning  แปลว่าการวางแผนการเงิน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เรื่อง  การออม ภาษี การลงทุน การประกัน การเกษียณอายุ และการวางแผนพินัยกรรม  ขณะที่ Wealth management แปลว่า การบริหารความมั่งคั่ง  ซึ่งจะเน้นการบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้งอกเงย  เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งและมั่นคงยิ่งขึ้น  การบริหารความมั่งคั่ง  ก็คือการวางแผนการเงินสำหรับคนรวยนั่นเอง
        “ Wealth management is the financial planning for the wealthy. ”

        8. จรรยาบรรณของอาชีพที่ปรึกษาการเงิน  มีอะไรบ้าง
        จรรยาบรรณของอาชีพที่ปรึกษาทางการเงินของแต่ละสถาบัน  อาจแตกต่างกันในตัวอักษร  แต่โดยหลักการแล้วจะคล้ายคลึงกัน 
The  international  association  of  registered  financial  consultants ( IARFC  ) หนึ่งในสถาบันที่ปรึกษาการเงิน ได้ประกาศ  RFC  Code  of  Ethics  ดังนี้
        1. ข้าพเจ้าจะถือเอาผลประโยชน์ของลูกค้าอยู่เหนือผลประโยชน์ของข้าพเจ้าตลอดเวลา
        2 .ข้าพเจ้าจะรักษาประสิทธิผลการทำงานของข้าพเจ้าโดยการศึกษาความรู้ในวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง
        3. เมื่อมีการคิดค่าบริการให้คำปรึกษา  ข้พเจ้าจะใช้ราคายุติธรรม  สมเหตุสมผล  บนพื้นฐานของเวลาและทักษะที่ใช้
        4. ข้าพเจ้าจะยึดถือทั้งจิตวิญญาณและหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย  ในการให้บริการวางแผนการเงิน
        5. ข้าพเจ้าจะให้การบริการลูกค้าเสมอเสมือนกับที่ข้าพเจ้าจะมอบให้ตนเองในภาวะแวดล้อมที่เหมือนกัน

        9. เราควรใช้บริการของที่ปรึกษาทางการเงินหรือไม่
  
      ในโลกที่ซับซ้อนขึ้นทุกวัน  เราต้องเผชิญกับเรื่องต่างๆมากมาย  ทั้งเรื่องครอบครัว , หน้าที่การงาน  หรือ  กิจกรรมทางสังคม
         ในขณะเดียวกัน  ตลาดการเงินก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ทั้งระเบียบ  กติกา  ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน  ความผันผวนของตลาด  และ  ข้อมูลที่ขัดแย้งกันเองจากสื่อต่างๆ
         การตัดสินใจที่ถูกต้อง  ในเวลาที่ถูกต้อง  เป็นเรื่องสำคัญ   ที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายทางการเงินของแต่ละบุคคล

         ที่ปรึกษาทางการเงิน  จะแนะนำแนวทางเพื่อการวางแผน  ตั้งแต่  การกำหนดเป้าหมาย , การรวบรวมข้อมูล , การวิเคราะห์ข้อมูล , คำแนะนำในการแก้ปัญหา  ที่สำคัญที่สุดคือ  การนำแผนไปประยุกต์ใช้  และการติดตามผล
         ที่ปรึกษาของเราจะช่วยให้เราเก็บเงิน , ใช้จ่าย , ลงทุน , ทำประกัน  และวางแผนได้อย่างชาญฉลาด  เพื่อบรรลุฝันที่เราวางไว้

         ที่ปรึกษาการเงิน  คือ  คนที่ผ่านการฝึกอบรมมาด้านการวางแผนการเงินโดยเฉพาะ  อีกทั้งยังมีข้อกำหนดให้อบรมเพิ่มเติมทุกปี  เพื่อให้ตามทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลกการเงิน  จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคลได้
         อย่างไรก็ตาม  ถ้าเราเป็นผู้ที่ศึกษาเรื่องการเงินมามากพอ , รู้ขั้นตอนการวางแผน , มีเวลาพอที่จะติดตามข่าวสารต่างๆ  เราก็สามารถวางแผนการเงินของเราเองได้  อีกทั้งปัจจุบันมีหนังสือและโปรแกรมคำนวณเงินออม  ที่ช่วยให้เราวางแผนได้ง่ายขึ้น

         แต่  ถ้าเรายังไม่มั่นใจ , ไม่มีประสบการณ์ , ไม่มีข้อมูลมากพอที่จะตัดสินใจ  การเลือกใช้ที่ปรึกษาการเงินย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า  ถึงแม้อาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมไปบ้าง  แต่คิดแล้วคุ้มค่า  เมื่อเทียบกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากเราเกิดตัดสินใจผิดพลาด
          อย่าลืมว่า  เรามีชีวิตเดียว  และชีวิตเราก็ไม่สามารถทดลองใหม่ได้ทุกครั้ง

 







Copyright © 2010 All Rights Reserved.